การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School – Based Management : SBM)
เราจะบริหารโรงเรียนอย่างไรให้มีคุณภาพสูงขึ้นเป็นคำถามที่ผู้เขียนสนใจ จากการสนทนาและอ่านหนังสือได้พบหลากหลายรูปแบบ แต่วันนี้ขอนำเสนอแบบ การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ซึ่งเป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา และได้เผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ โดยการบริหารงานแบบใช้โรงเรียนเป็นฐาน เป็นการกระจายอำนาจไปยังโรงเรียนที่เป็นหน่วยปฏิบัติ และให้ผู้ส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมบริหาร และจัดการศึกษา มีอำนาจในการจัด การศึกษาอย่างอิสระ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานทางด้านต่างๆ การจัดการศึกษาในประเทศไทยได้นำ หลักการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ซึ่งปรากฎอยู่ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวด 5 มาตรา 39 กำหนดให้กระทรวงกระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารงานทั่วไป ไปยังเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาโดยตรง มาตรา 40 ยังได้กำหนดให้มีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรีของแต่ละสถานศึกษา เพื่อทำหน้าที่กำกับและส่งเสริม สนับสนุนกิจการของสถานศึกษา ประกอบด้วย ตัวแทนผู้ปกครอง ผู้แทนครู ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนศิษย์เก่า ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นคณะกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการสถานศึกษา
การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ถือว่าเป็นนวัตกรรมทางการบริการที่ให้สถานศึกษามีอิสระในการบริหารและจัดการเรียนการสอน ที่สำคัญคือเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างแท้จริง และสถานศึกษาในแต่ละแห่งแต่ละแห่งอาจไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะและความจำเป็นของแต่ละโรงเรียน แต่ทุกโรงเรียนจะต้องตั้งอยู่บนหลักพื้นฐานเดียวกัน คือ
1.หลักการกระจายอำนาจ
เป็นการคืนอำนาจการจัดการศึกษาให้กับประชาชน โดยกระจาย อำนาจจากส่วนกลาง และเขตพื้นที่ ไปยังสถานศึกษา ซึ่งโรงเรียนเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการศึกษาของเด็ก ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการศึกษา หรืออยู่ใกล้ชิดกับเด็กซึ่งจะสามารถจัดการศึกษาได้ตรงกับความต้องการของผู้เรียนและชุมชน และอำนาจการตัดสินใจที่แท้จริงควรอยู่ที่ระดับปฏิบัติ คือสถานศึกษา
2. หลักการบริหารแบบมีส่วนร่วม
ผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายและแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมกำหนดหลักสูตรท้องถิ่น ร่วมคิดร่วมทำ ฯลฯ โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สามารถมีส่วนร่วมในการบริหาร สามารถตัดสินใจ และร่วมกันในการจัดการศึกษาให้มากที่สุด
3. หลักภาวะผู้นำแบบเกื้อหนุน
เป็นภาวะผู้นำที่เน้นการสนับสนุนและอำนวยความสะดวก และต้องไม่ใช่ภาวะผู้นำแบบชี้นำหรือสั่งการ
4. การพัฒนาทั้งระบบ
ปรับปรุงโครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กร โดยการเปลี่ยนแปลงเป็นระบบและได้รับความเห็นชอบ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้อง
5. หลักการบริหารตนเอง
สถานศึกษาจะต้องมีอิสระในการตัดสินใจด้วยตนเองมากขึ้น ภายใต้การบริหารในรูปแบบองค์คณะบุคคล หรือคณะกรรมการโรงเรียน หรือคณะกรรมสถานศึกษา
6. ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้
สถานศึกษาต้องมีความพร้อมให้มีการตรวจสอบ เพื่อให้การบริหารและจัดการศึกษาเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้โรงเรียนจะต้องกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบ และภารกิจของผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และชุมชนอย่างชัดเจน ภารกิจเหล่านี้ ต้องสามารถตรวจสอบความสำเร็จได้ เพื่อเป็นหลักประกันคุณภาพการศึกษาให้เกิดขึ้นตามที่กำหนดไว้
ประโยชน์ของโรงเรียนที่บริหารแบบโรงเรียนเป็นฐาน
1. สามารถสนองความต้องการของโรงเรียนและท้องถิ่นได้ดีขึ้น
2. สามารถกระตุ้นผู้มีประสบการณ์ มาช่วยเหลือได้มากขึ้น ในรูปแบบของคณะกรรมการ
3. ครูมีขวัญและกำลังใจดีขึ้น เพราะได้มีโอกาสคิดเอง ทำเอง และแสดงออกมากขึ้น
4. เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ จากการรวมตัดสินใจ
5. สร้างผู้นำใหม่ในทุกระดับ
6. เพิ่มการติดต่อสื่อสาร
7. ประหยัดการใช้งบประมาณ
8. มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้
9. เกิดความคิดสร้างสรรค์ ในการพัฒนาหลักสูตร
10.แก้ปัญหาความขัดแย้งได้ดี เพราะครูได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น
ต้นปีงบประมาณนี้หวังใจว่าโรงเรียนจะบริหารแบบใช้โรงเรียนเป็นฐานเปิดโอกาสให้ตัวแทนผู้ปกครอง ผู้แทนครู ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนศิษย์เก่า ผู้ทรงคุณวุฒิ เครือข่าย ชมรม สมาคมและผู้ที่สนใจได้ช่วยกันพัฒนาโรงเรียน พัฒนานักเรียนของเราให้มีคุณภาพสูงขึ้น
สืบค้นโดย นายภควัต บ่างสมบูรณ์
แต่งบล๊อกโดย นายศรุต วัฒนกุลศิลปชัย
No comments:
Post a Comment