Monday, August 5, 2013

แนวคิดกลุ่มจิตวิเคราะห์  (Psychoanalysis)  
         
        กลุ่มจิตวิเคราะห์มีผู้นำแนวคิดคนสำคัญคือ ซิกมันต์  ฟรอยด์  ( Sigmund  Freud )  เป็นจิตแพทย์ชาวเวียนนา  ได้ศึกษาวิเคราะห์จิตของมนุษย์และอธิบายว่า  พลังงานจิตทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์มี  3  ลักษณะ

1.  จิตสำนึก  ( Conscious  Mind )  หมายถึง  ภาวะจิตที่รู้ตัวอยู่ตลอดเวลา
2.  จิตกึ่งสำนึก  ( Subconscious  Mind )  หมายถึง  ภาวะจิตที่ระลึกได้
3.  จิตไร้สำนึก  ( Unconscious Mind )  หมายถึง  ไม่อยู่ในภาวะที่รู้ตัว

            ฟรอยด์อธิบายว่าโครงสร้างทางจิตประกอบด้วย  3 ส่วนสำคัญ Id ,Ego และ Superego ดังมีรายละเอียดคือ

1.  อิด  (Id)  หมายถึง  ตัณหา  หรือความต้องการพื้นฐานของมนุษย์  เป็นสิ่งที่ยังไม่ได้   ขัดเกลา  ซึ่งทำให้มนุษย์ทำทุกอย่างเพื่อความพึงพอใจของตน  หรือทำงานตามหลักของความพอใจ (Law  of  Pleasure)  โดยไม่คำนึงถึงสิ่งใด  เปรียบเสมือนสันดานดิบของมนุษย์  ซึ่งแบ่งออกเป็นสัญชาติญาณแห่งการมีชีวิต (Life  Instinct)  เช่น  ความต้องการอาหาร  ความต้องการทางเพศ  ความต้องการหลีกหนีจากอันตรายกับสัญชาติแห่งการตาย  (Death  Instinct)  เช่น  ความต้องการที่รุนแรง ความก้าวร้าว  หรือการทำอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น  เป็นต้น
2.  อีโก้  (Ego)  หมายถึง  ส่วนที่ควบคุมพฤติกรรมที่เกิดจากความต้องการของ  id  โดยอาศัยกฎเกณฑ์ทางสังคม  และหลักแห่งความจริง  (Reality  Principle)  มาช่วยในการตัดสินใจไม่ใช่แสดงออกตามความพอใจของตนเพียงอย่างเดียว  แต่ต้องคิดแสดงออกอย่างมีเหตุมีผลด้วย
3. ซุปเปอร์อีโก  (Super  Ego)  หมายถึง  มโนธรรมหรือจิตส่วนที่ได้รับการพัมนาจากประสบการณ์ การอบรมสั่งสอนหรือกระบวนการสังคมประกิต  โดยอาศัยหลักการศิลธรรมจรรยา  ขนบธรรมเนียมประเพณี  และค่านิยมต่าง ๆ  ในสังคมนั้น  Super  Ego  จะเป็นตัวบังคับและควบคุมความคิดให้แสดงออก  ในลักษณะที่เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม 
           
             โครงสร้างจิต 3 ระบบนี้  มีความสัมพันธ์กัน  ถ้าทำงานสัมพันธ์กันดี  การแสดงออกหรือบุคลิกภาพก็เหมาะสมกับตน  แต่ถ้าโครงสร้างทั้ง  3  ระบบ  ทำหน้าที่ขัดแย้งกันบุคคลก็จะมีพฤติกรรมหรือบุคลิกภาพที่ไม่ราบรื่นผิดปกติ หรือไม่เหมาะสม แนวความคิดกลุ่มนี้เชื่อในเรื่องจิตไร้สำนึก  (Unconscious Mind)  ซึ่งอยู่ระหว่างจิตสำนึกที่รู้ตัว มีสติสัมปชัญญะ  กับจิตไร้สติสัมปชัญญะ  หรือที่เรียกว่า  จิตไร้สำนึกนี้จะรวบรวมความคิด  ความต้องการ  และประสบการณ์ที่ผู้เป็นเจ้าของจิตไม่ต้องการ  หรือไม่ปรารถนาจะจดจำจึงเก็บกดความรู้สึกต่าง ๆ  เหล่านี้ไว้ให้อยู่ในจิตส่วนนี้และหากความคิด  ความต้องการ  หรือความรู้สึกต่างๆ  ทีบุคคลเก็บกดไว้ยังมีพลังอยู่  ถ้าเกิดมีสิ่งใดมากระตุ้นขึ้น  พลังที่ถูกเก็บไว้จะแสดงอิทธิพลทำให้บุคคลเกิดพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่รู้สึก ตัว อนึ่ง  ประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็ก  โดยเฉพาะช่วงแรกเกิดถึง  5  ขวบ  ที่เกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูที่เด็กได้รับจะฝังแน่นอยู่ในจิตไร้สำนึกและอาจ จะแสดงเมื่อถูกกระตุ้นโดยเฉพาะในวัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้ฟรอยด์ก็ได้กล่าวถึงพัฒนาการของมนุษย์ไว้อีกด้วย
           
             พัฒนาการบุคลิกภาพ ตามแนวคิดของฟรอยด์แบ่งการพัฒนาการบุคลิกภาพออก เป็น  5 ขั้น ดังนี้
               1.  ขั้นปาก  (Oral  Stage)  แรกเกิด 1 – 2  ขวบ  หมายถึง  ความสุข  และความพอใจของเด็กจะอยู่ที่ได้รับการตอบสนองทางปาก  เช่น  การดูดนม  การสัมผัสด้วยปากหาเด็กได้รับการตอนสนองเต็มที่  เด็กก็จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีบุคลิกภาพเหมาะสมหากตรงกันข้ามเด็กจะเกิด ความชะงัก  ถดถอยหรือการยึดติด (Fixation)และมาแสดงพฤติกรรมในช่วงนี้อีกในวัยผู้ใหญ่  เช่น  ชอบนินทาว่าร้าย  สูบบุหรี  กินจุบกินจิบ  เป็นต้น
               2.  ขั้นทวารหนัก  (Anal  Stage)  อายุ  2 – 3 ขวบ  หมายถึงความพอใจอยู่ที่การขับถ่ายเมื่อมีวุฒิภาวะ  ฉะนั้น  การฝึกฝน  ฝึกหัด  การขับถ่ายอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยวิธีผ่อนปรนและประนีประนอม  และให้เรียนรู้การขับถ่ายเป็นเวลา  จะทำให้เด็กไม่เกิดความเครียด  และสามารถพัฒนาบุคลิกภาพที่เหมาะสมได้  ตรงกันข้ามหากเด็กได้รับการลงโทษ  และฝึกหัดด้วยวิธีรุนแรงจะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกไม่พอใจ  และเก็บความรู้สึกที่ไม่ดีไว้ที่จิตไร้สำนึก  และจะมีผลต่อบุคลิกภาพในเวลาต่อมา กล่าวคือเป็นคนขี้เหนียว  เจ้าระเบียบ  ชอบทำร้ายให้ผู้อื่นเจ็บปวด  ชอบย้ำคิดย้ำทำ  เป็นต้น
               3.  ขั้นอวัยวะเพศ  (Phallic  Stage)  อายุ  3 – 5 ขวบ  หมายถึงความสนใจของเด็กจะเปลี่ยนมาสนใจเกี่ยวกับอวัยวะเพศ  มักถามว่าตนเกิดมาจากทางไหน  ฯลฯ  ในขั้นนี้เด็กจะรักพ่อแม่ที่เป็นเพศ ตรงข้ามกับตน  และลักษณะเช่นนี้  ทำให้เด็กเลี่ยนแบบบทบาททางเพศจากพ่อหรือแม่ที่เป็น  ตัวแบบ  หากพ่อแม่ปฏิบัติตามบทบาทที่ดี  เหมาะสมเป็นตัวแบบที่ดี  เด็กก็จะเลียนแบบและพัฒนา   บทบาททางเพศของตนได้อย่างดี  แต่ถ้าเกิดการติดตรึง  (Fixation)  ในขั้นนี้  เมื่อโตขึ้นอาจมีพฤติกรรมต่าง ๆ  เช่น  รักร่วมเพศ  (Homosexuality)  กามตายด้าน  (Impotence)  ชาเย็นทางเพศ  (Frigidity)  เป็นต้น                     
               4.  ขั้นแฝง  (Latency  Stage)  อายุ  6 – 12  ขวบ  หมายถึงเป็นระยะก่อนที่เด็กจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยรุ่น  จะมีความสนใจในเพื่อนเพศเดี่ยวกัน
               5.  ขั้นวัยรุ่น  (Genital  Stage)  อายุ  13 – 18  ขวบ  หมายถึงเด็กหญิงจะเริ่มมีความสนใจเด็กชายและเด็กชายก็เริ่มมีความสนใจเด็ก หญิง ในช่วงนี้จะเป็นระยะที่จะมีความสัมพันธ์ระหว่างเพศอย่างแท้จริง 
               นักจิตวิทยากลุ่มนี้ ยังเชื่อว่าพฤติกรรมทั้งหลายมีสาเหตุเกิดจากพลังผลักดันทางเพศ  ความคิดคิดเช่นนี้ได้รับการต่อต้านอย่างมากในระยะแรก ๆ  แต่ต่อมาหลักการทางจิตวิเคราะห์ก็ได้รับการยอมรับในการนำไปใช้ในวงงานของ จิตแพทย์  หรือการบำบัดรักษาอาการที่ผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจ  กลุ่มนี้ใช้วิธีการศึกษาด้วยระบบความในใจอย่างเสรี  (Free  Association) 

สืบค้นข้อมูลโดย  นางสาวอัจฉรา ชูบรรจง

No comments:

Post a Comment