Monday, August 12, 2013

บทความที่ 2 การบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการ(iEMS)สำหรับสถานศึกษา

โพสต์29 ม.ค. 2553, 17:52โดยMr.PK วัจน์   [ อัปเดต 29 ม.ค. 2553, 23:38 ]

 ระบบการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการ(integrated  educational management system, iEMS)
เป็นชุดขององค์ประกอบย่อยที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการดำเนินงานให้เกิดการจัดประสบการณ์และสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ   ที่สัมพันธ์กัน ผสมผสานเข้าด้วยกัน    เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แบบองค์รวมสอดคล้องกับความต้องการและวิถีชีวิตจริงของผู้เรียน  โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานอย่างมีเป้าหมายที่เชื่อมโยงกันของปัจจัยนำเข้า  กระบวนการและผลลัพธ์  ด้วยการระดมทรัพยากรที่หลากหลาย  การวางแผนกลยุทธ์  การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง  และมีความเป็นอิสระคล่องตัวในการบริหารจัดการที่มีขอบเขตและคงความเป็นเอกลักษณ์ของตน รวมทั้งมีการติดตามกำกับตามตัวบ่งชี้คุณภาพที่ชัดเจน  จนบรรลุผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิผล ประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน  ซึ่งประกอบด้วย องค์ประกอบหลัก  ได้แก่
                 1. การวาดภาพความสำเร็จ  (Success  Image)   การบริหารจัดการศึกษาจะต้องวาดภาพความสำเร็จของสถานศึกษาให้ชัดเจนในด้านวิสัยทัศน์ (Vision)  จุดมุ่งหมาย  (Goal)  บทบาท  (Role)  และภารกิจ (Mission)  ที่เป็นภาพความสำเร็จของการจัดการศึกษาที่มีความโดดเด่นและสอดคล้องกับมาตรฐาน   การศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติและคุณลักษณ์ของนักเรียน   ที่ชัดเจนและสนองตอบต่อความต้องการของสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้  โดยสถานศึกษาทำการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน สิ่งคุกคาม และโอกาสของสถานศึกษา และประเมินความต้องการจำเป็นของสถานศึกษา เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ จุดมุ่งหมาย บทบาทและภารกิจของสถานศึกษาที่สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ ปรัชญาของสถานศึกษา และสนองตอบตามความต้องการจำเป็นของแต่ละสถานศึกษาที่มีความแตกต่างกัน
                 2. การกำหนดโครงสร้าง (Organizational  Structure)  การบริหารจัดการศึกษาจะต้องมีการกำหนดโครงสร้างการบริหารที่ประกอบด้วยกลุ่มงาน และมาตรฐานการดำเนินงานที่มีความยืดหยุ่น และตอบสนองต่อภารกิจหลัก และมีบรรยากาศของการปฏิบัติงานที่เป็นวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้  โดยสถานศึกษาทำการวิเคราะห์งาน ศึกษามาตรฐานของการดำเนินงาน การประเมินผลการปฏิบัติงานและองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อกำหนดมาตรฐานกลุ่มงานที่สนองตอบภารกิจหลัก วางมาตรฐานการดำเนินงานและตัวชี้วัดผลสำเร็จของแต่ละกลุ่มงาน ตลอดจนวางแนวทางส่งเสริมบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ร่วมกันที่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย การกระจายอำนาจ และความเป็นกัลยาณมิตร
                 3. การบริหารจัดการ (Management)  การบริหารจัดการศึกษาจะต้องมีการบูรณาการจุดมุ่งหมาย สาระ วิธีการ และทรัพยากรการบริหาร โดยใช้ MSPA  เป็นตัวขับเคลื่อน  ได้แก่  การระดมทรัพยากร  (M-Mobilization)  การใช้กลยุทธ์  (S-Strategy)  การมีส่วนร่วม  (P-Participation) และความเป็นอิสระ(A-Autonomy)  คล่องตัวในการสร้างความโดดเด่นทางวิชาการ โดยแต่ละตัวมีความหมายดังนี้
                     3.1  การระดมทรัพยากร  (Mobilization)  หมายถึง  การแสวงหาบุคลากร งบประมาณ และสิ่งอำนวยความสะดวก  รวมทั้งความร่วมมือจากแหล่งต่าง ๆ ที่หลากหลายทั้งภายในและภายนอกองค์กรเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
                     3.2  กลยุทธ์   (Strategy)  หมายถึง  การกำหนดทิศทางและขอบเขตความต้องการในระยะสั้นและระยะยาวขององค์การ   เพื่อที่จะจัดสรรทรัพยากรให้สอดคล้องกับบริบท   สภาพแวดล้อมในการแข่งขัน ความคาดหวังของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และมาตรฐาน
                     3.3  การมีส่วนร่วม (Participation)  หมายถึง  การเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมประชุมปรึกษาหารือ และ/
หรือ   ร่วมดำเนินการเพื่อการตัดสินและควบคุมการทำงานร่วมกัน ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
เกิดความผูกพันกับงานหรือเป็นส่วนหนึ่งขององค์การ
                   3.4 ความเป็นอิสระ (Autonomy)  หมายถึง  สร้างความคล่องตัวในการจัดระเบียบบริหารบุคลากร กำกับทิศทางการจัดการวิชาการต่าง ๆ   รวมทั้งการสรรหาและกำกับงบประมาณตามอิสรภาพอย่างมีขอบเขต คงความเป็นเอกลักษณ์ และมีภาวะผู้นำทางวิชาการเพื่อสร้างความโดดเด่นทางวิชาการ
            4. การติดตามกำกับ  (Monitoring)  การบริหารจัดการศึกษา จะต้องมีการตรวจสอบภายในและติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ตามตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม (KPI)  เป็นระยะ ๆ เพื่อพัฒนาปรับปรุง   แก้ไขปัญหา/อุปสรรคจนบรรลุจุดมุ่งหมาย  โดยสถานศึกษามีการวางกลยุทธ์ การพัฒนาแผนและโครงการการนิเทศภายใน ซึ่งต้องอาศัยรูปแบบของระบบการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการที่เหมาะสม อันประกอบด้วยการระดมทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ บุคคล แหล่งเรียนรู้ ทั้งภาครัฐและเอกชน การวางกลยุทธ์และขับเคลื่อนกลยุทธ์  การมีส่วนร่วมทั้งร่วมคิด ร่วมทำ และมีความเป็นอิสระคล่องตัว  ทันสมัย กระจายอำนาจมีความโดดเด่นทางวิชาการ ตลอดจนการนิเทศติดตามการดำเนินงานของกลุ่มงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานการดำเนินการโดยแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบกัลยาณมิตร

สืบค้นโดย นายภควัต บ่างสมบูรณ์
แต่งบล๊อกโดย นายศรุต วัฒนกุลศิลปชัย

No comments:

Post a Comment