Saturday, August 17, 2013

แนวทางการจัดการเรียนรู้มาตรฐานสากล

โรงเรียนมาตรฐานสากล (World-Class Standard School)หมายถึง โรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนมุ่งให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ (Learner Profile) เทียบเคียงมาตรฐานสากล(World-Class Standard) ผู้เรียนมีศักยภาพเป็นพลโลก (World citizen)พัฒนายกระดับคุณภาพจัดการเรียนการสอนและการจัดการด้วยระบบคุณภาพ เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานสากลเป็นการต่อ ยอดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่เป็นมาตรฐานชาติ (ตามที่โรงเรียนทุกโรงจะต้องดำเนินการ เพื่อรองรับการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาโดย สมศ. ตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ. 2545)

ดาวน์โหลดเอกสาร https://app.box.com/s/5d01bbdb0f155b417d25

สืบค้นโดย นายเลอคัลลาล ลาล
แต่งบล๊อกโดย นายศรุต วัฒนกุลศิลปชัย

ระบบการศึกษาไทย
การศึกษาไทย


            ระบบการศึกษาไทยปัจจุบันตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2545 มีการจัดระบบการศึกษาขั้นประถมศึกษา 6 ปี (6 ระดับชั้น) การศึกษาขั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี (3 ระดับชั้น) และการศึกษาขั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี (3 ระดับชั้น) หรือระบบ 6-3-3

            นอกจากนั้นระบบการศึกษาไทยยังจัดเป็นระบบการศึกษาในระบบโรงเรียน  การศึกษานอกระบบโรงเรียน  และการศึกษาตามอัธยาศัย ในการจัดระบบการศึกษาตามแนวพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะไม่พิจารณาแบ่งแยกการศึกษาในระบบโรงเรียนออกจากการศึกษานอกระบบโรงเรียน  แต่จะถือว่าการศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นเพียงวิธีการเรียนการสอน หรือรูปแบบของการเรียนการสอนที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Modes of learning"  ฉะนั้น แนวทางใหม่คือสถานศึกษาสามารถจัดได้ทั้ง 3 รูปแบบ  และให้มีระบบเทียบโอนการเรียนรู้ทั้ง 3 รูปแบบ โดยพระราชบัญญัติการศึกษาฯ มาตรา 15  กล่าวว่าการจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย คือ
          (1) การศึกษาในระบบ  เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย  วิธีการศึกษา หลักสูตร  ระยะเวลาของการศึกษา  การวัดและการประเมินผล  ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน
          (2) การศึกษานอกระบบ  เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบวิธีการจัดการศึกษา  ระยะเวลาของการศึกษา  การวัดและประเมินผล  ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา  โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม
          (3) การศึกษาตามอัธยาศัย  เป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจศักยภาพ ความพร้อมและโอกาส  โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม หรือแหล่งความรู้อื่นๆ 

             สถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้งสามรูปแบบก็ได้ให้มีการเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ในระหว่างรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบได้ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนจากสถานศึกษาเดียวกันหรือไม่ก็ตาม  รวมทั้งจากการเรียนรู้นอกระบบตามอัธยาศัย การฝึกอาชีพ หรือจากประสบการณ์การทำงานการสอน และจะส่งเสริมให้สถานศึกษาจัดได้ทั้ง 3 รูปแบบ

การศึกษาในระบบมีสองระดับคือ การศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาระดับอุดมศึกษา
          1. การศึกษาขั้นพื้นฐานประกอบด้วย การศึกษาซึ่งจัดไม่น้อยกว่าสิบสองปีก่อนระดับอุดมศึกษา การแบ่งระดับและประเภทของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง การแบ่งระดับหรือการเทียบระดับการศึกษานอกระบบหรือการศึกษาตามอัธยาศัยให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
การศึกษาในระบบที่เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานแบ่งเป็นสามระดับ
 1.1  การศึกษาก่อนระดับประถมศึกษา เป็นการจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่มีอายุ 3 – 6 ปี
 1.2  การศึกษาระดับประถมศึกษา โดยปกติใช้เวลาเรียน 6 ปี
 1.3  การศึกษาระดับมัธยมศึกษา แบ่งเป็นสองระดับ ดังนี้
        - การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยปกติใช้เวลาเรียน 3 ปี
        - การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยปกติใช้เวลาเรียน 3 ปี แบ่งเป็นสองประเภท ดังนี้
          1) ประเภทสามัญศึกษา เป็นการจัดการศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
          2) ประเภทอาชีวศึกษา เป็นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ หรือ ศึกษาต่อในระดับอาชีพชั้นสูงต่อไป

          2.  การศึกษาระดับอุดมศึกษาแบ่งเป็นสองระดับ คือ ระดับต่ำกว่าปริญญาและระดับปริญญา การใช้คำว่า "อุดมศึกษา" แทนคำว่า "การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย"  ก็เพื่อจะให้ครอบคลุมการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรหรืออนุปริญญา  ที่เรียนภายหลังที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว


             ทั้งนี้การศึกษาภาคบังคับจำนวนเก้าปีโดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับหลักเกณฑ์และวิธีการนับอายุให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

             การศึกษาภาคบังคับนั้นต่างจากการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่บังคับให้ประชาชนต้องเข้าเรียนแต่เป็นสิทธิ์ของคนไทย ส่วนการศึกษาภาคบังคับเป็นการบังคับให้เข้าเรียนถือเป็นหน้าที่ของพลเมืองตามมาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญ

สืบค้นโดย นายเลอคัลลาล ลาล
แต่งบล๊อกโดย นายศรุต วัฒนกุลศิลปชัย


กทม. ปลื้ม 27 นักเรียนเก่ง สอบโอเน็ตได้คะแนนเต็ม 100

สอบโอเน็ต

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          กทม. ปลื้มเด็กในสังกัด สอบโอเน็ตเต็ม 100 คะแนน ถึง 27 คน เล็งปั้นโรงเรียนครบเครื่อง-เสริมหลักสูตร 2 สองภาษา เทียบเท่าสาธิตมหาวิทยาลัยอื่น ๆ

          เมื่อเวลา 13.00 น. ของวันที่ 7 สิงหาคม 2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร  นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตรให้กับโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ที่มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 42 โรงเรียน และในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 จำนวน 1 โรงเรียน 

          นอกจากนี้ ยังได้มอบเกียรติบัตรให้แก่นักเรียนที่สอบโอเน็ตในปีการศึกษา 2555 ซึ่งปรากฏว่าในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนสังกัด กทม. ได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน ใน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ จำนวน 27 คน นอกจากนี้ยังได้มอบเกียรติบัตรให้แก่ครูที่ชนะการประกวดหนังสือประกอบการเรียนการสอน ประจำปีงบประมาณ 2556 จำนวน 14 คน

          โดย นางผุสดี กล่าวว่า การมอบเกียรติบัตรครั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเด็กนักเรียนและครูในสังกัด กทม. ซึ่งเป็นนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ที่เน้นหนักไปในด้านการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ 50 เขต ให้กลายเป็นโรงเรียน 2 ภาษา และพัฒนาให้ครบเครื่อง ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน สอดแทรกกับการทำกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้ เทียบเท่าโรงเรียนสาธิตในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

          ขณะเดียวกัน ทางกรุงเทพมหานครยังได้เดินหน้าผลักดันให้เกิดการจัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในสังกัด กทม. ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสนับสนุนบุคลากรทางการศึกษา เพราะในอนาคตอาจจะมีโควตาพิเศษให้กับนักเรียนในสังกัด กทม. เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

สืบค้นจาก  http://education.kapook.com/view68221.html
สืบค้นโดย นายเลอคัลลาล ลาล
แต่งบล๊อกโดย นายศรุต วัฒนกุลศิลปชัย

Monday, August 12, 2013

ความอดทน
ความอดทน
     ความอดทนเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของคนเรา เกิดมาเป็นคนจะต้องมีทั้งอดและทน อดก็คือไม่ได้สิ่งที่เราต้องการแต่เราก็ทนได้ การไม่ได้สิ่งนั้นไม่เป็นเหตุให้ใจเราต้องสูญเสียความสุข จนความทุกข์วิ่งเข้ามาแทนที่ความสุข อาการแห่งความทุกข์ทำให้สภาพร่างกายถูกกัดกร่อนจนถึงขั้นรุนแรงอาจเป็นโรคทำลายสุขภาพ จนทำลายชีวิตซึ่งเป็นไปไดสารพัด

     สิ่งตรงข้ามของความทุกข์ คือ ความสุข สิ่งตรงข้ามทุกอย่างอาจเป็นพิษทำลายได้ง่ายๆ ไม่ยากเลย เช่น ความรักคือความสุข ใครมีความรักความสุขจะตามมาอย่างรวดเร็ว แต่ไม่เนิ่นนานนักเกิดอาการไม่สมหวังเมื่อใด ความรักจะแปรสภาพเป็นความทุกข์ทันที ความทุกข์ก็จะครอบงำจิตสำนึกให้จิตสำนึกที่เคยมีแต่ความสุขสงบร่มเย็นแปรสภาพเป็นความทุกข์ ความโกรธ ความแค้น ความเครียด ความอาฆาต พยาบาทสิ่งเหล่านั้นคือไฟที่ร้อนรน เริ่มเผาตัวเองจนลามทุ่งมุ่งไปสู่สรรพสิ่งใกล้เคียงจนถึงสิ่งห่างไกล เผาผลาญอย่างไร้เหตุผล แม้ประเทศชาติก็กลาย เป็นเหยื่อได้อย่างง่ายดาย เหลือเพียงแค่เหยื่อที่ถูกเผาผลาญเป็นจุล มองเห็นเป็นความหายนะโดยสิ้นเชิง

     ความอดทนหรืออีกถ้อยคำ หนึ่งคือความอดกลั้นน่าจะมีความ หมายเหมือนกัน การอด การทน การกลั้นจะใช้คำใดหรือคำอื่นปนกันก็ให้ความเข้าใจได้เหมือนฉันว่า สิ่งที่ตนอยากทำก็พยายามกลั้นไว้หรือทนไว้ หรืออดไว้ ด้วยเหตุผลหนึ่งเหตุผลใดตามแต่สถานการณ์ อันตนไม่อาจจะทำได้ ด้วยวิธีการอย่างไรก็ตาม เหตุผลอะไรก็ตาม เช่น หิวข้าวแต่กินไม่ได้เพราะถือศีลอด นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องความอดทน เพราะถ้าไม่มีความอดทนย่อมถือศีลอดไม่ได้ และตลอดทั้งวันเต็มบริบูรณ์จนตะวันตกดินให้หิวแค่ไหนก็กินไม่ได้ นั่นเรียกว่าความอดทนและเราก็อธิบายให้เข้าใจคำว่า การถือศีลอดคือความอดทน นั่นเอง

     หรือในบางสถานการณ์เราไม่ทำด้วยความอดทนหรืออดกลั้น เช่น โกรธคนอื่นที่ด่าเราอย่างเสียหายแต่เราก็ไม่ทำอะไรเขา แม้จะโกรธเขาอย่างเต็มที่ แต่ก็สามารถงดการแสดงออก สนองตอบความต้องการได้แม้จะยากเย็นอย่างเกือบตั้งไว้ไม่อยู่ก็ตาม แต่เราก็สามารถตั้งไว้ได้ แสดงว่าตัวเรามีความเก่งในการระงับอารมณไว้ได้เป็นอย่างดี ความโกรธที่อุบัติขึ้นภายในเป็นเพียงปฏิกิริยาทางอารมณ์เท่านั้น ยังมิใช่การกระทำที่ส่งผลถึงผู้อื่นแต่ประการใด เมื่อเราสามารถระงับมิให้แสดงออกมาทางกิริยา โดยอวัยวะส่วนต่างๆ การระงับไว้ได้นั้นย่อมเป็นผลดีแก่ตัวเอง และนั่นคือการปฏิบัติตามคำบัญชาของอัลลอฮฺซุบฮานะฮูว่าตะอาลา ที่ได้รับรางวัลตอบแทนจากพระองค์อย่างแน่นอน

     อวัยวะแต่ละชิ้นที่แรงอารมณ์โกรธวิ่งผ่านมาอย่างรวดเร็วราวสายฟ้าแลบ เช่น ปาก ด้วยการพูดจาหยาบคายสนองอารมณ์โกรธ ใบหน้าที่มีเลือดคุกรุ่นอาการแดงกล่ำเนื้อตัวสั่นสะท้านกำมือไว้แน่นพร้อมจะกราดพุ่งตรงสู่เป้าหมาย ทำให้คู่โกรธเจ็บปวด หรืออวัยวะส่วนล่างเตรียมรับคำสั่งจากอารมณ์โกรธยกขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงสัมผัสกับอวัยวะบางส่วนของคนที่เราโกรธได้รับความเจ็บปวดถึงขั้นเป็นรอยช้ำหรือเป็นแผลเลือดซิบหรือเลือดโกรกไหลทั่วร่างกาย

     ผลอันเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากความโกรธนั้นไม่ได้สร้างสรรคุณงามความดีใด ๆ เลย เพราะเป็นความโกรธอันบังเกิดขึ้นมาจากอารมณ์อิสระไม่มีความสัมพันธ์กับสติปัญญาเลย อารมณ์ที่พลุ่งพล่านขึ้นมานั้นจึงเป็นอารมณ์ที่ร้ายกาจแม้สติปัญญาจะมีส่วนร่วมด้วย แต่สติปัญญาโดนอารมณ์ครอบงำจนพ่ายแพ้อย่างเด็ดขาด แม้สติปัญญาจะสำนึกได้ว่าการทำตามคำสั่งของอารมณ์โกรธเป็นความผิดใหญ่หลวงนัก แต่ก็ยอมพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง อารมณ์สั่งให้ทำอะไรทำอย่างไรก็พร้อมจะทำตามคำสั่งนั้นอย่างเด็ดขาดด้วยความเหิมเกริมและสะใจ

     สมองที่บรรจุเต็มเปี่ยมด้วยสติและปัญญา หัวใจซึ่งบรรจุไว้ด้วยอารมณ์ซึ่งแบ่งได้เป็นอารมณ์ดีและอารมณ์ร้ายอันอารมณ์ไม่ว่าจะร้ายหรือดีมันจะสั่งไปที่สมองเพื่อให้สติปัญญาไตร่ตรอง กระบวนการได้ผ่านอย่างเรียบร้อยแล้วหน้าที่การสั่งการก็เป็นของหัวใจ จะดีหรือเลวก็ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของก้อนเนื้อหัวใจ ท่านศาสดากล่าวความว่า

     “ในร่างกายมีเนื้อก้อนหนึ่งหากคุณภาพดี ร่างกายทุกส่วนก็ดีด้วย และหากเนื้อก้อนนั้นเสียร่างกายทุกส่วนก็เสียด้วย พึงสังวรเนื้อก้อนนั้น คือหัวใจ” (บุคอมุสลิม )

     เราจึงต้องรักษาเนื้อก้อนนี้คือหัวใจของเราให้แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่เราสามารถจะทำได้ เราไม่ต้องสนใจความแตกต่างที่เกิดขึ้นกับแนวคิดวิทยาศาสตร์ จะแตกต่างกันอย่างไร

     หน้าที่ของเราจะต้องศรัทธาคำสอนของศาสดา มิใช่หลักคำสอนของวิทยาศาสตร์ ความคิดวิทยาศาสตร์เป็นความรู้ที่พิสูจน์สัจธรรมด้วยสมองของตัวเองตามหลักสูตรที่เล่าเรียนมา เราไม่จำเป็นต้องนำความรู้จากสองด้านนี้มาตอบโต้กันเพื่อให้เหลือเพียงด้านเดียว เรานำคำสอนของศาสดามาเก็บไว้อย่างมั่นคงแข็งแรงในหัวใจของเขา เพราะเป็นสถานะแห่ง “อะกีดะฮ์” พร้อมกับนำบทพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มาปลูกไว้ในสมอง จะเปลี่ยนแปลงสักกี่หนก็เปลี่ยนได้ อย่าให้กระทบกระเทือนศรัทธา (อะกีดะห์) ในใจของเราเป็นอันขาด

     เรามีหน้าที่ต้องหมั่นบริหารหัวใจของเราให้มีความแข็งแกร่งตลอดชั่วชีวิตของเรา แม้สมองของเราจะบริหารวิทยาศาสตร์และเปลี่ยนแปลงสักกี่หนเราก็ไม่หวั่นไหว เราพร้อมจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่หัวใจของเรา ที่มีศรัทธาอย่างมั่นคงและอดทนเท่านั้นที่จะสร้างความแ ข็งแกร่งได้ เหตุการณ์อันร้ายแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา หากเรามีความอดทนต่อเหตุการณ์นั้นได้ นั่นแหละคือความแข็งแกร่งที่อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลาประทานแก่เรา ยิ่งอดทนต่อเหตุการณ์ได้มากและบ่อยเท่าใด ความแข็งแกร่งก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น อัลกุรอานบัญญัติว่า

     ความว่า “...และเจ้าจงอดทนต่อเหตุการณ์ที่ประสบแก่เจ้า เพราะนั่นคือส่วนหนึ่งของกิจการที่แข็งแกร่ง” (ลุกมาน 17)
บทความโดย : อ.วินัย สะมะอุน (วารสารที่นี่สำนักจุฬาราชมนตรี ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 พฤษภาคม - มิถุนายน 2555)
สืบค้นโดย นายพงษ์ศิริ กล่อมดี
แต่งบล๊อกโดย นายศรุต วัฒนกุลศิลปชัย

การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School – Based Management : SBM)      
         เราจะบริหารโรงเรียนอย่างไรให้มีคุณภาพสูงขึ้นเป็นคำถามที่ผู้เขียนสนใจ จากการสนทนาและอ่านหนังสือได้พบหลากหลายรูปแบบ แต่วันนี้ขอนำเสนอแบบ การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ซึ่งเป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา และได้เผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ โดยการบริหารงานแบบใช้โรงเรียนเป็นฐาน เป็นการกระจายอำนาจไปยังโรงเรียนที่เป็นหน่วยปฏิบัติ และให้ผู้ส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมบริหาร และจัดการศึกษา มีอำนาจในการจัด การศึกษาอย่างอิสระ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานทางด้านต่างๆ  การจัดการศึกษาในประเทศไทยได้นำ หลักการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ซึ่งปรากฎอยู่ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวด 5 มาตรา 39 กำหนดให้กระทรวงกระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารงานทั่วไป ไปยังเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาโดยตรง  มาตรา 40 ยังได้กำหนดให้มีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรีของแต่ละสถานศึกษา เพื่อทำหน้าที่กำกับและส่งเสริม สนับสนุนกิจการของสถานศึกษา ประกอบด้วย ตัวแทนผู้ปกครอง ผู้แทนครู ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนศิษย์เก่า ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นคณะกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการสถานศึกษา
        
         การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ถือว่าเป็นนวัตกรรมทางการบริการที่ให้สถานศึกษามีอิสระในการบริหารและจัดการเรียนการสอน ที่สำคัญคือเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างแท้จริง และสถานศึกษาในแต่ละแห่งแต่ละแห่งอาจไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะและความจำเป็นของแต่ละโรงเรียน แต่ทุกโรงเรียนจะต้องตั้งอยู่บนหลักพื้นฐานเดียวกัน คือ
1.หลักการกระจายอำนาจ
         เป็นการคืนอำนาจการจัดการศึกษาให้กับประชาชน โดยกระจาย อำนาจจากส่วนกลาง และเขตพื้นที่ ไปยังสถานศึกษา ซึ่งโรงเรียนเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการศึกษาของเด็ก ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการศึกษา หรืออยู่ใกล้ชิดกับเด็กซึ่งจะสามารถจัดการศึกษาได้ตรงกับความต้องการของผู้เรียนและชุมชน และอำนาจการตัดสินใจที่แท้จริงควรอยู่ที่ระดับปฏิบัติ คือสถานศึกษา
2. หลักการบริหารแบบมีส่วนร่วม
         ผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายและแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมกำหนดหลักสูตรท้องถิ่น ร่วมคิดร่วมทำ ฯลฯ โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สามารถมีส่วนร่วมในการบริหาร สามารถตัดสินใจ และร่วมกันในการจัดการศึกษาให้มากที่สุด
3. หลักภาวะผู้นำแบบเกื้อหนุน
        เป็นภาวะผู้นำที่เน้นการสนับสนุนและอำนวยความสะดวก และต้องไม่ใช่ภาวะผู้นำแบบชี้นำหรือสั่งการ

4. การพัฒนาทั้งระบบ
        ปรับปรุงโครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กร โดยการเปลี่ยนแปลงเป็นระบบและได้รับความเห็นชอบ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้อง
5. หลักการบริหารตนเอง
        สถานศึกษาจะต้องมีอิสระในการตัดสินใจด้วยตนเองมากขึ้น ภายใต้การบริหารในรูปแบบองค์คณะบุคคล หรือคณะกรรมการโรงเรียน หรือคณะกรรมสถานศึกษา
6. ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้
        สถานศึกษาต้องมีความพร้อมให้มีการตรวจสอบ เพื่อให้การบริหารและจัดการศึกษาเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้โรงเรียนจะต้องกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบ และภารกิจของผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และชุมชนอย่างชัดเจน ภารกิจเหล่านี้ ต้องสามารถตรวจสอบความสำเร็จได้ เพื่อเป็นหลักประกันคุณภาพการศึกษาให้เกิดขึ้นตามที่กำหนดไว้
ประโยชน์ของโรงเรียนที่บริหารแบบโรงเรียนเป็นฐาน

1. สามารถสนองความต้องการของโรงเรียนและท้องถิ่นได้ดีขึ้น
2. สามารถกระตุ้นผู้มีประสบการณ์ มาช่วยเหลือได้มากขึ้น ในรูปแบบของคณะกรรมการ
3. ครูมีขวัญและกำลังใจดีขึ้น เพราะได้มีโอกาสคิดเอง ทำเอง และแสดงออกมากขึ้น
4. เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ จากการรวมตัดสินใจ
5. สร้างผู้นำใหม่ในทุกระดับ
6. เพิ่มการติดต่อสื่อสาร
7. ประหยัดการใช้งบประมาณ
8. มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้
9. เกิดความคิดสร้างสรรค์ ในการพัฒนาหลักสูตร
10.แก้ปัญหาความขัดแย้งได้ดี เพราะครูได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น       
        ต้นปีงบประมาณนี้หวังใจว่าโรงเรียนจะบริหารแบบใช้โรงเรียนเป็นฐานเปิดโอกาสให้ตัวแทนผู้ปกครอง ผู้แทนครู ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนศิษย์เก่า ผู้ทรงคุณวุฒิ เครือข่าย ชมรม สมาคมและผู้ที่สนใจได้ช่วยกันพัฒนาโรงเรียน พัฒนานักเรียนของเราให้มีคุณภาพสูงขึ้น

สืบค้นโดย นายภควัต บ่างสมบูรณ์
แต่งบล๊อกโดย นายศรุต วัฒนกุลศิลปชัย

การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

โดยนางสาวธัญญาภรณ์  จารุจิตร

สาขาการบริหารการศึกษา

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

                การปฏิรูปการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างยิ่ง นับตั้งแต่มี พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา (และมีฉบับแก้ไข (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545) กระทรวงศึกษาธิการได้ใช้ความพยายามปฏิรูปการศึกษาในทุกด้าน แต่ก็ยังไม่เป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้ไม่จริงจังนัก ทั้งๆที่กระทรวงศึกษาธิการเองได้วางแผนการปฏิรูปโครงสร้างระบบการบริหารการศึกษาไว้ค่อนข้างชัดเจน แต่ก็ดูเหมือนว่าการศึกษาไทยยังไม่เจริญก้าวหน้าไปถึงไหนปัญหาหลักของกระบวนการเรียนการสอนในปัจจุบัน คือ การที่ครูใช้วิธีการสอนแบบ“ปูพรม” โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียน ที่มีความสามารถในการรับรู้ที่แตกต่างกัน การเรียนการสอนไม่ได้เอื้อต่อการพัฒนาคุณลักษณะ “มองกว้าง คิดไกล ใฝ่ดี” แต่เน้นการท่องจำเพื่อสอบมากกว่าที่จะสอนให้ คิดเป็น วิเคราะห์ได้สามารถหาความรู้ได้ด้วยตนเอง ทำให้ผู้เรียนมีลักษณะเรียนรู้ไม่เป็น ปัญหาเหล่านี้นับว่าเป็นความล้มเหลวของการจัดการศึกษาที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน ความผิดพลาดที่สำคัญประการหนึ่งของการจัดการศึกษาที่แล้วมาคือ การเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้กับการนำมาใช้ในชีวิตจริง แม้แต่ในพระราชดำรัสก็ยังกล่าวว่า การศึกษาของประชาชนแต่ละคนเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจึงต้องทบทวนแนวคิดและกำหนดบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดการศึกษาเสียใหม่ ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ปกครองของผู้เรียน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาวิกฤติของการศึกษาและผู้เรียนต่อไป

พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ฉบับแก้ไข (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้กล่าวถึงกระบวนการจัดการศึกษาไว้ในหมวดที่ 4 แนวการจัดการศึกษา มาตรา 22 การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนา ตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถ พัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ จากแนวคิดนี้เองโดยเปลี่ยนจากการจัดการเรียนรู้ที่เน้นบทบาทครูผู้สอนมุ่งเน้นการจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยครูมีหน้าที่เป็นผู้เอื้ออำนวยในการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ส่งเสริม สนับสนุน ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม สร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเองการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ไม่ใช่การเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียน เรียนด้วยตนเองโดยลำพัง การจัดการเรียนรู้ที่ปล่อยให้ผู้เรียนเรียนด้วยตนเองโดยขาดการแนะนำจากครู ผู้เรียนอาจไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเรียนเปรียบได้กับการเดินทางโดยขาดแผนที่ ขาดเป้าหมาย เป็นการเดินทางที่วกวนและอาจย้อนกลับมาที่เดิมไปไม่ถึงเป้าหมายผู้เรียนต้องการทิศทางเพื่อไปให้ถึง เป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายที่พึงประสงค์การให้ความสำคัญกับการสอนมาเน้นที่การเรียนรู้ ครูยังต้องจัดบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ แต่เป้าหมาย ที่สำคัญคือ จะจัดการอย่างไรให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง

ในทรรศนะของผู้เรียนอยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทุกฝ่ายได้คำนึงถึงแนวทางที่จะจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนมีความสำคัญ ครูผู้สอนหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรมีความเชื่อพื้นฐานอย่างน้อย 3 ประการ คือ (1) เชื่อว่าทุกคนมีความแตกต่างกัน (2) เชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ และ (3) เชื่อว่าการเรียนรู้เกิดได้ทุกที่ ทุกเวลา

ดังนั้น การจัดการเรียนรู้จึงเป็นการจัดการบรรยากาศ กิจกรรม สื่อ สถานการณ์ ฯลฯ ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพ ครูจึงจำเป็นที่จะต้องรู้จักผู้เรียนอย่างรอบด้าน และสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปเป็นพื้นฐานการออกแบบหรือวางแผนการเรียนรู้ได้สอดคล้องกับผู้เรียน สำหรับในการจัดกิจกรรมหรือออกแบบการเรียนรู้ อาจทำได้หลายวิธีการและเทคนิค แต่มีข้อควรคำนึงว่า ในการจัดการเรียนรู้แต่ละครั้ง แต่ละเรื่อง ได้เปิดโอกาสให้กับผู้เรียนในเรื่องต่อไปนี้หรือไม่

1. เปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นผู้เลือกหรือตัดสินใจในเนื้อหาสาระที่สนใจ เป็นประโยชน์ต่อตัวผู้เรียนหรือไม่

2. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ โดยได้คิด ได้รวบรวมความรู้และลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองหรือไม่ ที่สำคัญครูควรเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมและสามารถนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติได้ ดังนี้

2.1 กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีที่ควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทางด้านร่างกาย (physical

participation) คือ เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อช่วยให้ประสาทการเรียนรู้ของผู้เรียนตื่นตัว พร้อมที่จะรับข้อมูลและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น กิจกรรมที่จัดให้ผู้เรียนจึงควรเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เคลื่อนไหวในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เป็นระยะๆ ตามความเหมาะสมกับวัยและระดับความสนใจของผู้เรียน

2.2 กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทางสติปัญญา (intellectual

participation) คือ เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเคลื่อนไหวทางสติปัญญา ต้องเป็นกิจกรรมที่ท้าทายความคิดของผู้เรียน สามารถกระตุ้นสมองของผู้เรียนให้เกิดการเคลื่อนไหว ต้องเป็นเรื่องที่ไม่ยากหรือง่ายเกินไปทำให้ผู้เรียนสนุกที่จะคิด

2.3 กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสังคม (social participation) คือ

เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคลหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว เนื่องจากมนุษย์จำเป็นต้องอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ มนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับผู้อื่นและสภาพแวดล้อมต่างๆ การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทางด้านสังคม

2.4 กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทางอารมณ์ (emotional participation) คือ เป็นกิจกรรมที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกของผู้เรียน ซึ่งจะช่วยให้การเรียนรู้นั้นเกิดความหมายต่อตนเอง โดยกิจกรรมดังกล่าวควรเกี่ยวข้องกับผู้เรียนโดยตรง

จากแนวคิดที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นที่มาของการนำเสนอชื่อ “CIPPA” ซึ่งระบุองค์ประกอบสำคัญในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ กล่าวคือ

C มาจากคำว่า Construct หมายถึง การสร้างความรู้ตามแนวคิดของทฤษฎีการสรรค์สร้างความรู้ (Constructivism) โดยครูสร้างกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสสร้างความรู้ด้วยตนเอง เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสติปัญญา

I มาจากคำว่า Interaction หมายถึง การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคลและแหล่งความรู้ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นการช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสังคม

P มาจากคำว่า Physical Participation หมายถึง การให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เคลื่อนไหวร่างกายโดยการทำกิจกรรมในลักษณะต่างๆ เป็นการช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางกาย

P มาจากคำว่า Process Learning หมายถึง การเรียนรู้กระบวนการต่างๆ กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการต่างๆ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น กระบวนการแสวงหาความรู้ กระบวนการคิด กระบวนการแก้ปัญหา กระบวนการกลุ่ม กระบวนการพัฒนาตนเอง เป็นต้น

 A มาจากคำว่า Application หมายถึง การนำความรู้ที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ ซึ่งจะช่วยให้

ผู้เรียนได้รับประโยชน์จากการเรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์


ดังนั้นการจัดการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการและการประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียน ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโดยการคาดหวังให้ผู้เรียน เรียนอย่างมีส่วนร่วมในการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง มีครูเป็นผู้แนะนำ ครู ยังมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพียงแต่บทบาทเปลี่ยนจากผู้สอนเป็นผู้แนะนำ เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ เทียบได้กับไกด์ที่จะนำนักท่องเที่ยวให้ได้ประสบการณ์ที่ดี จากการเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ ครูที่ดี จะช่วยผู้เรียนให้มีความสุขจากประสบการณ์การเรียนรู้ และเป็นผู้ที่มีนิสัยใฝ่เรียนต่อไปครูที่ประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มักเป็นครูที่มีความตั้งใจและสนุกในการทำงานสอน เป็นคนช่างสังเกตและเอาใจใส่ผู้เรียน และมักจะได้ผลการตอบสนองที่ดีจากผู้เรียน แม้จะยังไม่มากในจุดเริ่มต้น แต่เมื่อปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสังเกตได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนในทางที่ดีขึ้น

สืบค้นจาก  http://www.learners.in.th/blogs/posts/366920
สืบค้นโดย นายภควัต บ่างสมบูรณ์
แต่งบล๊อกโดย นายศรุต วัฒนกุลศิลปชัย


บทความที่ 2 การบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการ(iEMS)สำหรับสถานศึกษา

โพสต์29 ม.ค. 2553, 17:52โดยMr.PK วัจน์   [ อัปเดต 29 ม.ค. 2553, 23:38 ]

 ระบบการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการ(integrated  educational management system, iEMS)
เป็นชุดขององค์ประกอบย่อยที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการดำเนินงานให้เกิดการจัดประสบการณ์และสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ   ที่สัมพันธ์กัน ผสมผสานเข้าด้วยกัน    เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้แบบองค์รวมสอดคล้องกับความต้องการและวิถีชีวิตจริงของผู้เรียน  โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานอย่างมีเป้าหมายที่เชื่อมโยงกันของปัจจัยนำเข้า  กระบวนการและผลลัพธ์  ด้วยการระดมทรัพยากรที่หลากหลาย  การวางแผนกลยุทธ์  การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้อง  และมีความเป็นอิสระคล่องตัวในการบริหารจัดการที่มีขอบเขตและคงความเป็นเอกลักษณ์ของตน รวมทั้งมีการติดตามกำกับตามตัวบ่งชี้คุณภาพที่ชัดเจน  จนบรรลุผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิผล ประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน  ซึ่งประกอบด้วย องค์ประกอบหลัก  ได้แก่
                 1. การวาดภาพความสำเร็จ  (Success  Image)   การบริหารจัดการศึกษาจะต้องวาดภาพความสำเร็จของสถานศึกษาให้ชัดเจนในด้านวิสัยทัศน์ (Vision)  จุดมุ่งหมาย  (Goal)  บทบาท  (Role)  และภารกิจ (Mission)  ที่เป็นภาพความสำเร็จของการจัดการศึกษาที่มีความโดดเด่นและสอดคล้องกับมาตรฐาน   การศึกษาขั้นพื้นฐานของชาติและคุณลักษณ์ของนักเรียน   ที่ชัดเจนและสนองตอบต่อความต้องการของสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้  โดยสถานศึกษาทำการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน สิ่งคุกคาม และโอกาสของสถานศึกษา และประเมินความต้องการจำเป็นของสถานศึกษา เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ จุดมุ่งหมาย บทบาทและภารกิจของสถานศึกษาที่สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ ปรัชญาของสถานศึกษา และสนองตอบตามความต้องการจำเป็นของแต่ละสถานศึกษาที่มีความแตกต่างกัน
                 2. การกำหนดโครงสร้าง (Organizational  Structure)  การบริหารจัดการศึกษาจะต้องมีการกำหนดโครงสร้างการบริหารที่ประกอบด้วยกลุ่มงาน และมาตรฐานการดำเนินงานที่มีความยืดหยุ่น และตอบสนองต่อภารกิจหลัก และมีบรรยากาศของการปฏิบัติงานที่เป็นวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้  โดยสถานศึกษาทำการวิเคราะห์งาน ศึกษามาตรฐานของการดำเนินงาน การประเมินผลการปฏิบัติงานและองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อกำหนดมาตรฐานกลุ่มงานที่สนองตอบภารกิจหลัก วางมาตรฐานการดำเนินงานและตัวชี้วัดผลสำเร็จของแต่ละกลุ่มงาน ตลอดจนวางแนวทางส่งเสริมบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ร่วมกันที่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย การกระจายอำนาจ และความเป็นกัลยาณมิตร
                 3. การบริหารจัดการ (Management)  การบริหารจัดการศึกษาจะต้องมีการบูรณาการจุดมุ่งหมาย สาระ วิธีการ และทรัพยากรการบริหาร โดยใช้ MSPA  เป็นตัวขับเคลื่อน  ได้แก่  การระดมทรัพยากร  (M-Mobilization)  การใช้กลยุทธ์  (S-Strategy)  การมีส่วนร่วม  (P-Participation) และความเป็นอิสระ(A-Autonomy)  คล่องตัวในการสร้างความโดดเด่นทางวิชาการ โดยแต่ละตัวมีความหมายดังนี้
                     3.1  การระดมทรัพยากร  (Mobilization)  หมายถึง  การแสวงหาบุคลากร งบประมาณ และสิ่งอำนวยความสะดวก  รวมทั้งความร่วมมือจากแหล่งต่าง ๆ ที่หลากหลายทั้งภายในและภายนอกองค์กรเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
                     3.2  กลยุทธ์   (Strategy)  หมายถึง  การกำหนดทิศทางและขอบเขตความต้องการในระยะสั้นและระยะยาวขององค์การ   เพื่อที่จะจัดสรรทรัพยากรให้สอดคล้องกับบริบท   สภาพแวดล้อมในการแข่งขัน ความคาดหวังของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และมาตรฐาน
                     3.3  การมีส่วนร่วม (Participation)  หมายถึง  การเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมประชุมปรึกษาหารือ และ/
หรือ   ร่วมดำเนินการเพื่อการตัดสินและควบคุมการทำงานร่วมกัน ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
เกิดความผูกพันกับงานหรือเป็นส่วนหนึ่งขององค์การ
                   3.4 ความเป็นอิสระ (Autonomy)  หมายถึง  สร้างความคล่องตัวในการจัดระเบียบบริหารบุคลากร กำกับทิศทางการจัดการวิชาการต่าง ๆ   รวมทั้งการสรรหาและกำกับงบประมาณตามอิสรภาพอย่างมีขอบเขต คงความเป็นเอกลักษณ์ และมีภาวะผู้นำทางวิชาการเพื่อสร้างความโดดเด่นทางวิชาการ
            4. การติดตามกำกับ  (Monitoring)  การบริหารจัดการศึกษา จะต้องมีการตรวจสอบภายในและติดตามประเมินผลการดำเนินงาน ตามตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม (KPI)  เป็นระยะ ๆ เพื่อพัฒนาปรับปรุง   แก้ไขปัญหา/อุปสรรคจนบรรลุจุดมุ่งหมาย  โดยสถานศึกษามีการวางกลยุทธ์ การพัฒนาแผนและโครงการการนิเทศภายใน ซึ่งต้องอาศัยรูปแบบของระบบการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการที่เหมาะสม อันประกอบด้วยการระดมทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ บุคคล แหล่งเรียนรู้ ทั้งภาครัฐและเอกชน การวางกลยุทธ์และขับเคลื่อนกลยุทธ์  การมีส่วนร่วมทั้งร่วมคิด ร่วมทำ และมีความเป็นอิสระคล่องตัว  ทันสมัย กระจายอำนาจมีความโดดเด่นทางวิชาการ ตลอดจนการนิเทศติดตามการดำเนินงานของกลุ่มงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานการดำเนินการโดยแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบกัลยาณมิตร

สืบค้นโดย นายภควัต บ่างสมบูรณ์
แต่งบล๊อกโดย นายศรุต วัฒนกุลศิลปชัย

สร้างบุคลิกภาพที่ดูดีเมื่อแรกเห็น

                     สำหรับคนทำงานที่ต้องพบปะผู้คนอยู่เสมอ First Impression หรือความประทับใจเริ่มแรกนั้น ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญค่ะ...เพราะนั่นหมายถึงความน่าเชื่อถือ ความนิยมชมชอบ และต่อเนื่องไปถึงการติดต่อสัมพันธ์กันอีกยาวนาน... แต่สังเกตไหมคะ คนที่มึบุคลิกดีจนสร้างความประทับใจให้กับใครต่อใครได้นั้นมีไม่มากคนนักหรอกค่ะ และถ้าคุณอยากเป็นเช่นนั้น นี่เป็นเรื่องที่คุณควรทำ และไม่ควรทำ เพื่อสร้างบุคลิกภาพที่ดูดีเมื่อแรกเห็นค่ะ อย่าสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่นั้นเป็นตัวการในการทำลายผิวอย่างร้ายแรง สารนิโคตินในบุหรี่ทำให้ผิวคุณหมองคล้ำ ไม่สดใสมีชีวิตชีวา และไม่เพียงแต่ผิวเท่านั้นนะคะ ผมสวยๆ ของคุณก็ได้รับผลเสียจากการสูบบุหรี่ด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นบุหรี่ยังเป็นตัวการสำคัญในการสร้างริ้วรอยเหี่ยวย่น โดยเฉพาะบริเวณรอบๆ ริมฝีปากของคุณ ในส่วนบิวตี้ของบีบีซีบอกว่ามีนางแบบมากมายที่นิยมใช้บุหรี่ในการรักษาหุ่นเพรียว แต่ก็หารู้ไม่ว่านี่เป็นการทำลายอาชีพของพวกหล่อนอย่างร้ายกาจ (ก็รอยเหี่ยวย่น ความโทรมที่ตามมายังไงล่ะคะและนี่คือเหตุผลทั้งหมดที่ว่าทำไมคุณจะดูดีไม่ได้ยามมีบุหรี่อยู่ในมือ ควรดื่มแอลกอฮอล์แต่พอควร ในอาทิตย์หนึ่งคุณควรกำหนดไว้ว่า ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์มากจนเกินไปนัก (ผู้เชี่ยวชาญว่าอาทิตย์หนึ่งไม่ควรเกิน 14 ยูนิตค่ะเพราะไม่เพียงจะเสียบุคลิกอันควรแล้ว แอลกอฮอล์ยังเป็นพิษร้ายกับตับของคุณอย่างมากด้วย มีความสุขกับการเป็นคนมีสุขภาพดี ถ้าคุณอยู่ในช่วงไดเอท ควรใช้วิธีรับประทานผักและผลไม้ให้มากเข้าไว้ นอกจากจะได้วิตามิน สารอาหาร และแอนติออกซิแดนท์จากธรรมชาติแล้ว หุ่นสวยๆ และผิวพรรณดีๆ อยู่ไม่ไกลค่ะ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายนั้นช่วยทำให้ผิวพรรณคุณมีเลือดฝาดสวย และช่วยรักษารูปร่างให้คงที่ ซึ่งส่งผลให้คุณรู้สึกมั่นอกมั่นใจ และสร้างความสง่างามกับบุคลิกได้อย่างน่าทึ่ง ปกป้องผิวจากแสงแดด เพราะอัลตร้าไวโอเลต หรือ UVA นั้นเป็นตัวร้ายที่สุดในการทำลายคอลลาเจน (collagen-สารโปรตีนประเภทหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบของผิวหนัง กระดูกเนื้อเยื่อ และฟันให้หมดไป ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้ผิวคุณย่ำแย่ เพิ่มริ้วรอย และความหมองคล้ำอย่างมากมาย นอนให้พอ การนอนหลับเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยในการซ่อมแซมร่างกายตามธรรมชาติ นอกจากนั้นว่ากันว่าการนอนเป็นเคล็ดลับในการบำบัดจิตใจของคุณด้วย ค้นหาหนทางที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาหรือความกดดันที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และอย่าแสดงออกถึงปัญหาทางใบหน้าและบุคลิก เพราะมันไม่ได้สร้างความประทับใจให้กับใครเลยค่ะ ดูแลรักษาฟันอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการไปตรวจกับหมอฟันประจำตัวของคุณตามระยะเวลาที่กำหนด อย่าผัดวันประกันพรุ่ง เพราะบางทีปัญหาเล็กอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากแก่การรักษาได้ ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ...เพียงคุณเอาใจใส่กับตัวเองอีกนิดเท่านั้นเอง...

ที่มา ขวัญเรือน มิ.. 2547
สืบค้นโดย นายชัชวาลย์ แก้วบูชา
แต่งบล๊อกโดย นายศรุต วัฒนกุลศิลปชัย

สมบูรณ์แบบมากไประวังป่วย

      โดย ผู้จัดการออนไลน์ 19 มิถุนายน 2547 12:05 นเดอะซัน ผลการศึกษาจากแคนาดาชี้ว่า คนที่แสวงหาความสมบูรณ์แบบ มีแนวโน้มที่จะล้มป่วยมากกว่าคนที่ใช้ชีวิตสบายๆ เพราะคนพวกนี้กดดันตัวเองมากเกินไป จนเกิดปัญหาทั้งด้านร่างกายและจิตใจ นอกจากจะทำให้ตัวเองเครียดแล้ว พวกสมบูรณ์แบบยังมักจะมีความผิดปกติในการกิน คบหากับคนอื่นลำบาก และมีแนวโน้มจะฆ่าตัวตาย โดยลักษณะบ่งชี้ของคนกลุ่มนี้ คือมีภาวะชอบแข่งขันสูง และหยุดคิดถึงข้อผิดพลาดของตัวเองไม่ได้ ล่าสุดศาสตราจารย์กอร์ดอน เฟลตต์ ผู้ทำการศึกษาในโตรอนโตแนะว่า วงการแพทย์ควรระบุให้อาการแสวงหาความสมบูรณ์แบบเป็นอาการป่วยทางจิต แบบเดียวกับพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์ 19มิ.. 47

สืบค้นโดย นายชัชวาลย์ แก้วบูชา
แต่งบล๊อกโดย นายศรุต วัฒนกุลศิลปชัย

คิดดี

    
คิดดี... ไม่เพียงแต่ทำให้เบิกบานได้ทั้งวัน กับการคิดว่า "ทุกสิ่งนั้นดีและไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ก็เพียงแค่รักษารอยยิ้มเอาไว้

คิดดี... แท้จริงแล้ว เป็นเรื่องของจิตใจ ทัศนคติ ความเข้าใจชีวิต การจัดการกับปัญหา ที่จะทำให้ชีวิต ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป แต่กลายเป็นโอกาสในการเรียนรู้ สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา

คิดดี... สอนให้มี การกระทำ แทนที่จะ เป็นเพียง การโต้ตอบ การทำให้ตนเองมีความมั่นคง อีกครั้ง แทนที่จะถูกอิทธิพลของใครหรือสถานการณ์ใด นำพาเราไป

คิดดี... ไม่ได้ทำให้ นิ่ม หรือ อ่อนแอ แต่ตรงกันข้าม กลับทำให้เข้มแข็งและอยู่เหนืออิทธิพลของผู้อื่นมากขึ้น เมื่อมีความเข้าใจ และมีประสบการณ์ ของคุณสมบัติที่ดีหรือพลังภายในของตนเองอย่างแท้จริง

คิดดี... ทำให้มองดูชีวิตในแง่บวกตลอดเวลา ในขณะที่ผู้คนมากมายมักมุ่งความสนใจไปที่ ความผิดปรกติ ความเจ็บปวด หรือประสบการณ์ที่ไม่ดี ในชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตราย ก็เพราะเราอาจติดกับ หรือจมอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นลบ จนตกอยู่ภายใต้ อิทธิพลของสิ่งนั้นอย่างสิ้นเชิง

คิดดี... ไม่ใช่การปฏิเสธ หรือการเก็บกดประสบการณ์ในอดีตไว้ แต่กลับกระตุ้นเราให้เผชิญกับอดีต จากจุดยืนที่เข้มแข็งภายในและความเข้าใจชีวิต ด้วยการถามตนเองว่า "ฉันต้องการอะไรสำหรับชีวิตที่มีอยู่เราก็สามารถเริ่มต้นที่จะก้าวหน้าไปสู่อนาคตที่สว่างไสว

ที่มา ผู้จัดการ 14 พค.47

สืบค้นโดย นายชัชวาลย์ แก้วบูชา
แต่งบล๊อกโดย นายศรุต วัฒนกุลศิลปชัย

10 วิธีง่ายๆ ใช้ระงับความโกรธ


        1.หลีกเลี่ยง
"การหลีกเลี่ยงกับ "การหลีกหนีแตกต่างกันนะครับ การหลีกเลี่ยงไม่ได้หมายความว่าคุณขลาดกลัว หรือไม่เป็นลูกผู้ชาย ตรงกันข้าม วิธีนี้กลับเป็นสิ่งที่แสดงวุฒิภาวะในการควบคุมอารมณ์ของคุณต่างหาก คุณอาจจะออกมาเดินเล่น ผ่อนคลาย ประนีประนอม หรือไม่ก็พับงาน-กิจกรรมนั้นไว้ว่ากันวันหลังที่อารมณ์ดีขึ้นแล้ว ต้องจำให้ขึ้นใจนะครับว่า ไม่ใช่การหลีกหนีโดยไม่รับผิดชอบ หรือก่อความเสียหายไว้ให้คนอื่นต้องตามแก้
2. ระบาย
"ระบายนะครับ ไม่ใช่ "ระเบิดและต้องรู้จักเลือกคนที่เราจะระบายด้วยนะ ควรเป็นคนที่เข้าใจ และไว้ใจได้ เพราะขืนไประบายกับคนที่ไม่เข้าใจ และพวกปากประชาสัมพันธ์แทนที่จะระบายจะทำให้คุณสบายใจ สบายหัว การระบายโดยไม่เลือกนิสัย และสันดานของบุคคลที่สาม อาจกลายเป็นการจุดชนวนระเบิดตูมใหญ่ให้คุณดีๆ นี่เอง
3.กิน
มีใครจะปฏิเสธบ้างว่า การกินคือวิธีสร้างสุขอย่างดีวิธีหนึ่งของมนุษย์ โดยเฉพาะการกินอาหารอร่อยถูกปาก คุณเอ๋ย...สุขอย่าบอกใคร ทุกครั้งที่ลิ้นได้รับรสอันโอชะของอาหารจานโปรด เชื่อสิว่าความโกรธจะดับวูบลงราวกับโยนไม้ขีดไฟลงแม่น้ำเลยละ โดยเฉพาะอาหารจำพวกขนมหวาน เพราะมีการพิสูจน์แล้วว่า สามารถดับพิษแห่งความโกรธได้ชะงัด อ้อ...อย่าโกรธบ่อยจนอ้วนก็แล้วกัน
4.ดื่ม
โดยเฉพาะดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ รสซาบซ่า ฉ่ำใจ อาจจะเป็น น้ำเปล่า น้ำผลไม้ น้ำอัดลมเย็นเจี๊ยบสักแก้ว จะซดเฮือกๆ ให้หายโกรธ หรือค่อยๆ จิบละเลียดช้าๆ ก็ไม่ว่ากัน ตราบใดที่ความเย็นยังบรรเทาความร้อนได้ น้ำเย็นก็สามารถบรรเทาความโกรธได้ตราบนั้น ที่สำคัญถ้าคุณระงับความโกรธด้วยแอลกอฮอล์เย็น อย่าเมาแล้วขับ หรือหลับข้างถนนก็แล้วกัน
5.หัวเราะ
มีหลายอย่างที่จะทำให้คุณหัวเราะได้ การพูดคุยกับคนที่มีอารมณ์ขัน การอ่านหนังสือ ดูตลกในทีวี หรือแม้แต่การส่องกระจกดูหน้าตาตัวเองที่กำลังโกรธเกรี้ยวเป็นไอ้บ้าอยู่ก็ตาม เอาเป็นว่าทุกเรื่อง ทุกคนที่กระตุ้นต่อมฮาของคุณได้ก็โอเค ทุกครั้งที่โกรธ จงหัวเราะดังๆ ให้เท่ากับความโกรธที่มันจุกอกอยู่ รับรองว่าต่อมฮาฆ่าความโกรธกระจาย (แต่อย่าเผลอหัวเราะตอนเจ้านายกำลังด่าคุณก็แล้วกัน)
6.ร้องไห้
การร้องไห้เป็นกลไกของร่างกายตามธรรมชาติที่ช่วยระบายความเครียด ความคับข้องในจิตใจให้หมดสิ้นไป รวมทั้งการระบายความโกรธ ดังนั้น ผู้ชายร้องไห้จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เว้นเสียแต่ว่าคุณจะแหกปากร้องไห้ หรือสะอื้นฮักๆ ต่อหน้าธารกำนัล ถ้าโกรธตอนอยู่คนเดียวแล้วไม่รู้จะทำยังไง หรืออยากจะร้องไห้ ลองปล่อยน้ำตาให้ไหลโดยไม่ต้องบังคับดูสิ แล้วคุณจะรู้ว่าร้องไห้ช่วยไล่ความโกรธได้จริงๆ
7.ร้องเพลง
เพลงอะไร กับใคร ที่ไหน ร้องไปเถอะ จะร้องเบาๆ หรือแหกปากร้องก็เอาเลย สังคมไทยไม่เคยรังเกียจคนร้องเพลง (ยกเว้นร้องเพลงรักในงานศพนักจิตวิทยาบอกว่า การร้องเพลงจะช่วยให้กล้ามเนื้อที่ตึงเครียดผ่อนคลาย และหายโกรธได้ ถ้าโกรธจนนึกไม่ออกว่าจะร้องเพลงอะไร ขอแนะนำว่าให้ร้องเพลงไทยยอดนิยมตลอดกาล "เพลงชาติหรือ "เพลงช้างที่ร้องได้ตั้งแต่ชั้น ป.1 รับรองว่าทั้งคนร้อง คนฟังฮาครืน ครื้นเครง
8.พักผ่อน
หากิจกรรมที่คุณทำแล้วเพลิดเพลิน ออกกำลังกายช้อปปิ้ง ดูหนัง ฟังเพลง อะไรก็ได้ที่ทำแล้วคุณรู้สึกว่าได้ผ่อนคลายความตึงเครียด ความโกรธ และไม่ทำให้ตัวเองและคนอื่นเดือดร้อนทำไปเถอะ มีข้อแม้อยู่นิดเดียวว่าการพักผ่อนนั้น อย่าทำให้คุณเสียงาน และเสียเงินจนเกินไปก็แล้วกัน
9.นอนหลับ
เคยสังเกตไหมว่า เวลาที่คุณโกรธ หรือเครียดมากๆ เป็นเวลานานๆ คุณจะรู้สึกหนักหัว และง่วงนอนมากๆ นั่นแหละคือสัญญาณที่ร่างกายต้องการบอกคุณว่า ถ้าได้หลับเต็มอิ่มสักงีบ อารมณ์โกรธของคุณจะได้รับการปลดปล่อยโดยกลไกธรรมชาติ หากจะพูดถึงกระบวนการระบายความโกรธในขณะนอนหลับคงจะยืดยาวน่าเบื่อ เอาเป็นว่าถ้าไม่เชื่อลองนอนหลับดูก็แล้วกัน
10.ให้อภัย
ฟังดูแล้วอาจจะพระเอ๊ก...พระเอก แต่ทุกครั้งที่เราให้อภัยคนที่ทำให้โกรธ เชื่อสิว่าถึงไม่ได้อะไร แต่เราก็ภาคภูมิใจ สบายใจอยู่ลึกๆ การให้อภัยคือการปล่อยวาง และให้โอกาสทั้งตัวเองและผู้อื่น ให้โอกาสผู้อื่นได้แก้ตัว ปรับปรุงตัว ให้โอกาสตัวเองได้เป็นผู้ให้ ได้ฝึกนิสัย และจิตใจตัวเองให้เย็นลง และรู้จักปล่อยวาง รู้สึกดีทั้งผู้ให้ และผู้ได้รับการอภัย

สืบค้นโดย นายชัชวาลย์ แก้วบูชา
แต่งบล๊อกโดย นายศรุต วัฒนกุลศิลปชัย