Sunday, September 15, 2013

โน้ตมาร์ชจุฑาเทพ

เนื้อเพลง
เหล่าชาวจุฑาเทพเอย ขอจงขยันหมั่นเพียรเรียนวิชา
แล้วรู้รักการงานรีบเร่งไขว่คว้า ทั้งดนตรีและกีฬาจุฑาเทพไกล
เทิดทูนแผ่นดินสยามที่เราอยู่ บูชาศาสน์ล้ำอันอำไพ
และพร้อมภักดิ์รักองค์กษัตริย์เทิดไว้ ร้อยดวงใจขวัญผไทจุฑาเทพเอย

Saturday, August 17, 2013

แนวทางการจัดการเรียนรู้มาตรฐานสากล

โรงเรียนมาตรฐานสากล (World-Class Standard School)หมายถึง โรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนมุ่งให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ (Learner Profile) เทียบเคียงมาตรฐานสากล(World-Class Standard) ผู้เรียนมีศักยภาพเป็นพลโลก (World citizen)พัฒนายกระดับคุณภาพจัดการเรียนการสอนและการจัดการด้วยระบบคุณภาพ เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานสากลเป็นการต่อ ยอดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่เป็นมาตรฐานชาติ (ตามที่โรงเรียนทุกโรงจะต้องดำเนินการ เพื่อรองรับการประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาโดย สมศ. ตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ. 2545)

ดาวน์โหลดเอกสาร https://app.box.com/s/5d01bbdb0f155b417d25

สืบค้นโดย นายเลอคัลลาล ลาล
แต่งบล๊อกโดย นายศรุต วัฒนกุลศิลปชัย

ระบบการศึกษาไทย
การศึกษาไทย


            ระบบการศึกษาไทยปัจจุบันตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2545 มีการจัดระบบการศึกษาขั้นประถมศึกษา 6 ปี (6 ระดับชั้น) การศึกษาขั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี (3 ระดับชั้น) และการศึกษาขั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี (3 ระดับชั้น) หรือระบบ 6-3-3

            นอกจากนั้นระบบการศึกษาไทยยังจัดเป็นระบบการศึกษาในระบบโรงเรียน  การศึกษานอกระบบโรงเรียน  และการศึกษาตามอัธยาศัย ในการจัดระบบการศึกษาตามแนวพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะไม่พิจารณาแบ่งแยกการศึกษาในระบบโรงเรียนออกจากการศึกษานอกระบบโรงเรียน  แต่จะถือว่าการศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นเพียงวิธีการเรียนการสอน หรือรูปแบบของการเรียนการสอนที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Modes of learning"  ฉะนั้น แนวทางใหม่คือสถานศึกษาสามารถจัดได้ทั้ง 3 รูปแบบ  และให้มีระบบเทียบโอนการเรียนรู้ทั้ง 3 รูปแบบ โดยพระราชบัญญัติการศึกษาฯ มาตรา 15  กล่าวว่าการจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย คือ
          (1) การศึกษาในระบบ  เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย  วิธีการศึกษา หลักสูตร  ระยะเวลาของการศึกษา  การวัดและการประเมินผล  ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน
          (2) การศึกษานอกระบบ  เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบวิธีการจัดการศึกษา  ระยะเวลาของการศึกษา  การวัดและประเมินผล  ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา  โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม
          (3) การศึกษาตามอัธยาศัย  เป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจศักยภาพ ความพร้อมและโอกาส  โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม หรือแหล่งความรู้อื่นๆ 

             สถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้งสามรูปแบบก็ได้ให้มีการเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ในระหว่างรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบได้ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนจากสถานศึกษาเดียวกันหรือไม่ก็ตาม  รวมทั้งจากการเรียนรู้นอกระบบตามอัธยาศัย การฝึกอาชีพ หรือจากประสบการณ์การทำงานการสอน และจะส่งเสริมให้สถานศึกษาจัดได้ทั้ง 3 รูปแบบ

การศึกษาในระบบมีสองระดับคือ การศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาระดับอุดมศึกษา
          1. การศึกษาขั้นพื้นฐานประกอบด้วย การศึกษาซึ่งจัดไม่น้อยกว่าสิบสองปีก่อนระดับอุดมศึกษา การแบ่งระดับและประเภทของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง การแบ่งระดับหรือการเทียบระดับการศึกษานอกระบบหรือการศึกษาตามอัธยาศัยให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
การศึกษาในระบบที่เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานแบ่งเป็นสามระดับ
 1.1  การศึกษาก่อนระดับประถมศึกษา เป็นการจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่มีอายุ 3 – 6 ปี
 1.2  การศึกษาระดับประถมศึกษา โดยปกติใช้เวลาเรียน 6 ปี
 1.3  การศึกษาระดับมัธยมศึกษา แบ่งเป็นสองระดับ ดังนี้
        - การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยปกติใช้เวลาเรียน 3 ปี
        - การศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยปกติใช้เวลาเรียน 3 ปี แบ่งเป็นสองประเภท ดังนี้
          1) ประเภทสามัญศึกษา เป็นการจัดการศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
          2) ประเภทอาชีวศึกษา เป็นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ หรือ ศึกษาต่อในระดับอาชีพชั้นสูงต่อไป

          2.  การศึกษาระดับอุดมศึกษาแบ่งเป็นสองระดับ คือ ระดับต่ำกว่าปริญญาและระดับปริญญา การใช้คำว่า "อุดมศึกษา" แทนคำว่า "การศึกษาระดับมหาวิทยาลัย"  ก็เพื่อจะให้ครอบคลุมการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรหรืออนุปริญญา  ที่เรียนภายหลังที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว


             ทั้งนี้การศึกษาภาคบังคับจำนวนเก้าปีโดยให้เด็กซึ่งมีอายุย่างเข้าปีที่เจ็ดเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจนอายุย่างเข้าปีที่สิบหก เว้นแต่สอบได้ชั้นปีที่เก้าของการศึกษาภาคบังคับหลักเกณฑ์และวิธีการนับอายุให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

             การศึกษาภาคบังคับนั้นต่างจากการศึกษาขั้นพื้นฐานซึ่งการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่บังคับให้ประชาชนต้องเข้าเรียนแต่เป็นสิทธิ์ของคนไทย ส่วนการศึกษาภาคบังคับเป็นการบังคับให้เข้าเรียนถือเป็นหน้าที่ของพลเมืองตามมาตรา 69 ของรัฐธรรมนูญ

สืบค้นโดย นายเลอคัลลาล ลาล
แต่งบล๊อกโดย นายศรุต วัฒนกุลศิลปชัย


กทม. ปลื้ม 27 นักเรียนเก่ง สอบโอเน็ตได้คะแนนเต็ม 100

สอบโอเน็ต

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          กทม. ปลื้มเด็กในสังกัด สอบโอเน็ตเต็ม 100 คะแนน ถึง 27 คน เล็งปั้นโรงเรียนครบเครื่อง-เสริมหลักสูตร 2 สองภาษา เทียบเท่าสาธิตมหาวิทยาลัยอื่น ๆ

          เมื่อเวลา 13.00 น. ของวันที่ 7 สิงหาคม 2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร  นางผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตรให้กับโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ที่มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 42 โรงเรียน และในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 จำนวน 1 โรงเรียน 

          นอกจากนี้ ยังได้มอบเกียรติบัตรให้แก่นักเรียนที่สอบโอเน็ตในปีการศึกษา 2555 ซึ่งปรากฏว่าในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนสังกัด กทม. ได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน ใน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ จำนวน 27 คน นอกจากนี้ยังได้มอบเกียรติบัตรให้แก่ครูที่ชนะการประกวดหนังสือประกอบการเรียนการสอน ประจำปีงบประมาณ 2556 จำนวน 14 คน

          โดย นางผุสดี กล่าวว่า การมอบเกียรติบัตรครั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเด็กนักเรียนและครูในสังกัด กทม. ซึ่งเป็นนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ที่เน้นหนักไปในด้านการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ 50 เขต ให้กลายเป็นโรงเรียน 2 ภาษา และพัฒนาให้ครบเครื่อง ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน สอดแทรกกับการทำกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้ เทียบเท่าโรงเรียนสาธิตในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

          ขณะเดียวกัน ทางกรุงเทพมหานครยังได้เดินหน้าผลักดันให้เกิดการจัดตั้งคณะศึกษาศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในสังกัด กทม. ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสนับสนุนบุคลากรทางการศึกษา เพราะในอนาคตอาจจะมีโควตาพิเศษให้กับนักเรียนในสังกัด กทม. เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

สืบค้นจาก  http://education.kapook.com/view68221.html
สืบค้นโดย นายเลอคัลลาล ลาล
แต่งบล๊อกโดย นายศรุต วัฒนกุลศิลปชัย

Monday, August 12, 2013

ความอดทน
ความอดทน
     ความอดทนเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของคนเรา เกิดมาเป็นคนจะต้องมีทั้งอดและทน อดก็คือไม่ได้สิ่งที่เราต้องการแต่เราก็ทนได้ การไม่ได้สิ่งนั้นไม่เป็นเหตุให้ใจเราต้องสูญเสียความสุข จนความทุกข์วิ่งเข้ามาแทนที่ความสุข อาการแห่งความทุกข์ทำให้สภาพร่างกายถูกกัดกร่อนจนถึงขั้นรุนแรงอาจเป็นโรคทำลายสุขภาพ จนทำลายชีวิตซึ่งเป็นไปไดสารพัด

     สิ่งตรงข้ามของความทุกข์ คือ ความสุข สิ่งตรงข้ามทุกอย่างอาจเป็นพิษทำลายได้ง่ายๆ ไม่ยากเลย เช่น ความรักคือความสุข ใครมีความรักความสุขจะตามมาอย่างรวดเร็ว แต่ไม่เนิ่นนานนักเกิดอาการไม่สมหวังเมื่อใด ความรักจะแปรสภาพเป็นความทุกข์ทันที ความทุกข์ก็จะครอบงำจิตสำนึกให้จิตสำนึกที่เคยมีแต่ความสุขสงบร่มเย็นแปรสภาพเป็นความทุกข์ ความโกรธ ความแค้น ความเครียด ความอาฆาต พยาบาทสิ่งเหล่านั้นคือไฟที่ร้อนรน เริ่มเผาตัวเองจนลามทุ่งมุ่งไปสู่สรรพสิ่งใกล้เคียงจนถึงสิ่งห่างไกล เผาผลาญอย่างไร้เหตุผล แม้ประเทศชาติก็กลาย เป็นเหยื่อได้อย่างง่ายดาย เหลือเพียงแค่เหยื่อที่ถูกเผาผลาญเป็นจุล มองเห็นเป็นความหายนะโดยสิ้นเชิง

     ความอดทนหรืออีกถ้อยคำ หนึ่งคือความอดกลั้นน่าจะมีความ หมายเหมือนกัน การอด การทน การกลั้นจะใช้คำใดหรือคำอื่นปนกันก็ให้ความเข้าใจได้เหมือนฉันว่า สิ่งที่ตนอยากทำก็พยายามกลั้นไว้หรือทนไว้ หรืออดไว้ ด้วยเหตุผลหนึ่งเหตุผลใดตามแต่สถานการณ์ อันตนไม่อาจจะทำได้ ด้วยวิธีการอย่างไรก็ตาม เหตุผลอะไรก็ตาม เช่น หิวข้าวแต่กินไม่ได้เพราะถือศีลอด นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ดีเรื่องความอดทน เพราะถ้าไม่มีความอดทนย่อมถือศีลอดไม่ได้ และตลอดทั้งวันเต็มบริบูรณ์จนตะวันตกดินให้หิวแค่ไหนก็กินไม่ได้ นั่นเรียกว่าความอดทนและเราก็อธิบายให้เข้าใจคำว่า การถือศีลอดคือความอดทน นั่นเอง

     หรือในบางสถานการณ์เราไม่ทำด้วยความอดทนหรืออดกลั้น เช่น โกรธคนอื่นที่ด่าเราอย่างเสียหายแต่เราก็ไม่ทำอะไรเขา แม้จะโกรธเขาอย่างเต็มที่ แต่ก็สามารถงดการแสดงออก สนองตอบความต้องการได้แม้จะยากเย็นอย่างเกือบตั้งไว้ไม่อยู่ก็ตาม แต่เราก็สามารถตั้งไว้ได้ แสดงว่าตัวเรามีความเก่งในการระงับอารมณไว้ได้เป็นอย่างดี ความโกรธที่อุบัติขึ้นภายในเป็นเพียงปฏิกิริยาทางอารมณ์เท่านั้น ยังมิใช่การกระทำที่ส่งผลถึงผู้อื่นแต่ประการใด เมื่อเราสามารถระงับมิให้แสดงออกมาทางกิริยา โดยอวัยวะส่วนต่างๆ การระงับไว้ได้นั้นย่อมเป็นผลดีแก่ตัวเอง และนั่นคือการปฏิบัติตามคำบัญชาของอัลลอฮฺซุบฮานะฮูว่าตะอาลา ที่ได้รับรางวัลตอบแทนจากพระองค์อย่างแน่นอน

     อวัยวะแต่ละชิ้นที่แรงอารมณ์โกรธวิ่งผ่านมาอย่างรวดเร็วราวสายฟ้าแลบ เช่น ปาก ด้วยการพูดจาหยาบคายสนองอารมณ์โกรธ ใบหน้าที่มีเลือดคุกรุ่นอาการแดงกล่ำเนื้อตัวสั่นสะท้านกำมือไว้แน่นพร้อมจะกราดพุ่งตรงสู่เป้าหมาย ทำให้คู่โกรธเจ็บปวด หรืออวัยวะส่วนล่างเตรียมรับคำสั่งจากอารมณ์โกรธยกขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงสัมผัสกับอวัยวะบางส่วนของคนที่เราโกรธได้รับความเจ็บปวดถึงขั้นเป็นรอยช้ำหรือเป็นแผลเลือดซิบหรือเลือดโกรกไหลทั่วร่างกาย

     ผลอันเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากความโกรธนั้นไม่ได้สร้างสรรคุณงามความดีใด ๆ เลย เพราะเป็นความโกรธอันบังเกิดขึ้นมาจากอารมณ์อิสระไม่มีความสัมพันธ์กับสติปัญญาเลย อารมณ์ที่พลุ่งพล่านขึ้นมานั้นจึงเป็นอารมณ์ที่ร้ายกาจแม้สติปัญญาจะมีส่วนร่วมด้วย แต่สติปัญญาโดนอารมณ์ครอบงำจนพ่ายแพ้อย่างเด็ดขาด แม้สติปัญญาจะสำนึกได้ว่าการทำตามคำสั่งของอารมณ์โกรธเป็นความผิดใหญ่หลวงนัก แต่ก็ยอมพ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง อารมณ์สั่งให้ทำอะไรทำอย่างไรก็พร้อมจะทำตามคำสั่งนั้นอย่างเด็ดขาดด้วยความเหิมเกริมและสะใจ

     สมองที่บรรจุเต็มเปี่ยมด้วยสติและปัญญา หัวใจซึ่งบรรจุไว้ด้วยอารมณ์ซึ่งแบ่งได้เป็นอารมณ์ดีและอารมณ์ร้ายอันอารมณ์ไม่ว่าจะร้ายหรือดีมันจะสั่งไปที่สมองเพื่อให้สติปัญญาไตร่ตรอง กระบวนการได้ผ่านอย่างเรียบร้อยแล้วหน้าที่การสั่งการก็เป็นของหัวใจ จะดีหรือเลวก็ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของก้อนเนื้อหัวใจ ท่านศาสดากล่าวความว่า

     “ในร่างกายมีเนื้อก้อนหนึ่งหากคุณภาพดี ร่างกายทุกส่วนก็ดีด้วย และหากเนื้อก้อนนั้นเสียร่างกายทุกส่วนก็เสียด้วย พึงสังวรเนื้อก้อนนั้น คือหัวใจ” (บุคอมุสลิม )

     เราจึงต้องรักษาเนื้อก้อนนี้คือหัวใจของเราให้แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่เราสามารถจะทำได้ เราไม่ต้องสนใจความแตกต่างที่เกิดขึ้นกับแนวคิดวิทยาศาสตร์ จะแตกต่างกันอย่างไร

     หน้าที่ของเราจะต้องศรัทธาคำสอนของศาสดา มิใช่หลักคำสอนของวิทยาศาสตร์ ความคิดวิทยาศาสตร์เป็นความรู้ที่พิสูจน์สัจธรรมด้วยสมองของตัวเองตามหลักสูตรที่เล่าเรียนมา เราไม่จำเป็นต้องนำความรู้จากสองด้านนี้มาตอบโต้กันเพื่อให้เหลือเพียงด้านเดียว เรานำคำสอนของศาสดามาเก็บไว้อย่างมั่นคงแข็งแรงในหัวใจของเขา เพราะเป็นสถานะแห่ง “อะกีดะฮ์” พร้อมกับนำบทพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์มาปลูกไว้ในสมอง จะเปลี่ยนแปลงสักกี่หนก็เปลี่ยนได้ อย่าให้กระทบกระเทือนศรัทธา (อะกีดะห์) ในใจของเราเป็นอันขาด

     เรามีหน้าที่ต้องหมั่นบริหารหัวใจของเราให้มีความแข็งแกร่งตลอดชั่วชีวิตของเรา แม้สมองของเราจะบริหารวิทยาศาสตร์และเปลี่ยนแปลงสักกี่หนเราก็ไม่หวั่นไหว เราพร้อมจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่หัวใจของเรา ที่มีศรัทธาอย่างมั่นคงและอดทนเท่านั้นที่จะสร้างความแ ข็งแกร่งได้ เหตุการณ์อันร้ายแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา หากเรามีความอดทนต่อเหตุการณ์นั้นได้ นั่นแหละคือความแข็งแกร่งที่อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลาประทานแก่เรา ยิ่งอดทนต่อเหตุการณ์ได้มากและบ่อยเท่าใด ความแข็งแกร่งก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น อัลกุรอานบัญญัติว่า

     ความว่า “...และเจ้าจงอดทนต่อเหตุการณ์ที่ประสบแก่เจ้า เพราะนั่นคือส่วนหนึ่งของกิจการที่แข็งแกร่ง” (ลุกมาน 17)
บทความโดย : อ.วินัย สะมะอุน (วารสารที่นี่สำนักจุฬาราชมนตรี ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 พฤษภาคม - มิถุนายน 2555)
สืบค้นโดย นายพงษ์ศิริ กล่อมดี
แต่งบล๊อกโดย นายศรุต วัฒนกุลศิลปชัย

การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School – Based Management : SBM)      
         เราจะบริหารโรงเรียนอย่างไรให้มีคุณภาพสูงขึ้นเป็นคำถามที่ผู้เขียนสนใจ จากการสนทนาและอ่านหนังสือได้พบหลากหลายรูปแบบ แต่วันนี้ขอนำเสนอแบบ การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ซึ่งเป็นแนวความคิดที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา และได้เผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ โดยการบริหารงานแบบใช้โรงเรียนเป็นฐาน เป็นการกระจายอำนาจไปยังโรงเรียนที่เป็นหน่วยปฏิบัติ และให้ผู้ส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมบริหาร และจัดการศึกษา มีอำนาจในการจัด การศึกษาอย่างอิสระ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงานทางด้านต่างๆ  การจัดการศึกษาในประเทศไทยได้นำ หลักการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ซึ่งปรากฎอยู่ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวด 5 มาตรา 39 กำหนดให้กระทรวงกระจายอำนาจการบริหารจัดการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารงานทั่วไป ไปยังเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาโดยตรง  มาตรา 40 ยังได้กำหนดให้มีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรีของแต่ละสถานศึกษา เพื่อทำหน้าที่กำกับและส่งเสริม สนับสนุนกิจการของสถานศึกษา ประกอบด้วย ตัวแทนผู้ปกครอง ผู้แทนครู ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนศิษย์เก่า ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้ผู้บริหารสถานศึกษาเป็นคณะกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการสถานศึกษา
        
         การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ถือว่าเป็นนวัตกรรมทางการบริการที่ให้สถานศึกษามีอิสระในการบริหารและจัดการเรียนการสอน ที่สำคัญคือเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างแท้จริง และสถานศึกษาในแต่ละแห่งแต่ละแห่งอาจไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะและความจำเป็นของแต่ละโรงเรียน แต่ทุกโรงเรียนจะต้องตั้งอยู่บนหลักพื้นฐานเดียวกัน คือ
1.หลักการกระจายอำนาจ
         เป็นการคืนอำนาจการจัดการศึกษาให้กับประชาชน โดยกระจาย อำนาจจากส่วนกลาง และเขตพื้นที่ ไปยังสถานศึกษา ซึ่งโรงเรียนเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการศึกษาของเด็ก ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการศึกษา หรืออยู่ใกล้ชิดกับเด็กซึ่งจะสามารถจัดการศึกษาได้ตรงกับความต้องการของผู้เรียนและชุมชน และอำนาจการตัดสินใจที่แท้จริงควรอยู่ที่ระดับปฏิบัติ คือสถานศึกษา
2. หลักการบริหารแบบมีส่วนร่วม
         ผู้เกี่ยวข้องสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดนโยบายและแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมกำหนดหลักสูตรท้องถิ่น ร่วมคิดร่วมทำ ฯลฯ โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สามารถมีส่วนร่วมในการบริหาร สามารถตัดสินใจ และร่วมกันในการจัดการศึกษาให้มากที่สุด
3. หลักภาวะผู้นำแบบเกื้อหนุน
        เป็นภาวะผู้นำที่เน้นการสนับสนุนและอำนวยความสะดวก และต้องไม่ใช่ภาวะผู้นำแบบชี้นำหรือสั่งการ

4. การพัฒนาทั้งระบบ
        ปรับปรุงโครงสร้างและวัฒนธรรมองค์กร โดยการเปลี่ยนแปลงเป็นระบบและได้รับความเห็นชอบ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้อง
5. หลักการบริหารตนเอง
        สถานศึกษาจะต้องมีอิสระในการตัดสินใจด้วยตนเองมากขึ้น ภายใต้การบริหารในรูปแบบองค์คณะบุคคล หรือคณะกรรมการโรงเรียน หรือคณะกรรมสถานศึกษา
6. ความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้
        สถานศึกษาต้องมีความพร้อมให้มีการตรวจสอบ เพื่อให้การบริหารและจัดการศึกษาเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้โรงเรียนจะต้องกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบ และภารกิจของผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และชุมชนอย่างชัดเจน ภารกิจเหล่านี้ ต้องสามารถตรวจสอบความสำเร็จได้ เพื่อเป็นหลักประกันคุณภาพการศึกษาให้เกิดขึ้นตามที่กำหนดไว้
ประโยชน์ของโรงเรียนที่บริหารแบบโรงเรียนเป็นฐาน

1. สามารถสนองความต้องการของโรงเรียนและท้องถิ่นได้ดีขึ้น
2. สามารถกระตุ้นผู้มีประสบการณ์ มาช่วยเหลือได้มากขึ้น ในรูปแบบของคณะกรรมการ
3. ครูมีขวัญและกำลังใจดีขึ้น เพราะได้มีโอกาสคิดเอง ทำเอง และแสดงออกมากขึ้น
4. เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ จากการรวมตัดสินใจ
5. สร้างผู้นำใหม่ในทุกระดับ
6. เพิ่มการติดต่อสื่อสาร
7. ประหยัดการใช้งบประมาณ
8. มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้
9. เกิดความคิดสร้างสรรค์ ในการพัฒนาหลักสูตร
10.แก้ปัญหาความขัดแย้งได้ดี เพราะครูได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น       
        ต้นปีงบประมาณนี้หวังใจว่าโรงเรียนจะบริหารแบบใช้โรงเรียนเป็นฐานเปิดโอกาสให้ตัวแทนผู้ปกครอง ผู้แทนครู ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนศิษย์เก่า ผู้ทรงคุณวุฒิ เครือข่าย ชมรม สมาคมและผู้ที่สนใจได้ช่วยกันพัฒนาโรงเรียน พัฒนานักเรียนของเราให้มีคุณภาพสูงขึ้น

สืบค้นโดย นายภควัต บ่างสมบูรณ์
แต่งบล๊อกโดย นายศรุต วัฒนกุลศิลปชัย

การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

โดยนางสาวธัญญาภรณ์  จารุจิตร

สาขาการบริหารการศึกษา

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

                การปฏิรูปการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างยิ่ง นับตั้งแต่มี พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา (และมีฉบับแก้ไข (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545) กระทรวงศึกษาธิการได้ใช้ความพยายามปฏิรูปการศึกษาในทุกด้าน แต่ก็ยังไม่เป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้ไม่จริงจังนัก ทั้งๆที่กระทรวงศึกษาธิการเองได้วางแผนการปฏิรูปโครงสร้างระบบการบริหารการศึกษาไว้ค่อนข้างชัดเจน แต่ก็ดูเหมือนว่าการศึกษาไทยยังไม่เจริญก้าวหน้าไปถึงไหนปัญหาหลักของกระบวนการเรียนการสอนในปัจจุบัน คือ การที่ครูใช้วิธีการสอนแบบ“ปูพรม” โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของผู้เรียน ที่มีความสามารถในการรับรู้ที่แตกต่างกัน การเรียนการสอนไม่ได้เอื้อต่อการพัฒนาคุณลักษณะ “มองกว้าง คิดไกล ใฝ่ดี” แต่เน้นการท่องจำเพื่อสอบมากกว่าที่จะสอนให้ คิดเป็น วิเคราะห์ได้สามารถหาความรู้ได้ด้วยตนเอง ทำให้ผู้เรียนมีลักษณะเรียนรู้ไม่เป็น ปัญหาเหล่านี้นับว่าเป็นความล้มเหลวของการจัดการศึกษาที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน ความผิดพลาดที่สำคัญประการหนึ่งของการจัดการศึกษาที่แล้วมาคือ การเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้กับการนำมาใช้ในชีวิตจริง แม้แต่ในพระราชดำรัสก็ยังกล่าวว่า การศึกษาของประชาชนแต่ละคนเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจึงต้องทบทวนแนวคิดและกำหนดบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดการศึกษาเสียใหม่ ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้ปกครองของผู้เรียน เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาวิกฤติของการศึกษาและผู้เรียนต่อไป

พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ฉบับแก้ไข (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 ได้กล่าวถึงกระบวนการจัดการศึกษาไว้ในหมวดที่ 4 แนวการจัดการศึกษา มาตรา 22 การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนา ตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถ พัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ จากแนวคิดนี้เองโดยเปลี่ยนจากการจัดการเรียนรู้ที่เน้นบทบาทครูผู้สอนมุ่งเน้นการจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยครูมีหน้าที่เป็นผู้เอื้ออำนวยในการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ส่งเสริม สนับสนุน ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม สร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเองการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ไม่ใช่การเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียน เรียนด้วยตนเองโดยลำพัง การจัดการเรียนรู้ที่ปล่อยให้ผู้เรียนเรียนด้วยตนเองโดยขาดการแนะนำจากครู ผู้เรียนอาจไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเรียนเปรียบได้กับการเดินทางโดยขาดแผนที่ ขาดเป้าหมาย เป็นการเดินทางที่วกวนและอาจย้อนกลับมาที่เดิมไปไม่ถึงเป้าหมายผู้เรียนต้องการทิศทางเพื่อไปให้ถึง เป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายที่พึงประสงค์การให้ความสำคัญกับการสอนมาเน้นที่การเรียนรู้ ครูยังต้องจัดบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้ แต่เป้าหมาย ที่สำคัญคือ จะจัดการอย่างไรให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง

ในทรรศนะของผู้เรียนอยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาทุกฝ่ายได้คำนึงถึงแนวทางที่จะจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนมีความสำคัญ ครูผู้สอนหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องควรมีความเชื่อพื้นฐานอย่างน้อย 3 ประการ คือ (1) เชื่อว่าทุกคนมีความแตกต่างกัน (2) เชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ และ (3) เชื่อว่าการเรียนรู้เกิดได้ทุกที่ ทุกเวลา

ดังนั้น การจัดการเรียนรู้จึงเป็นการจัดการบรรยากาศ กิจกรรม สื่อ สถานการณ์ ฯลฯ ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้เต็มตามศักยภาพ ครูจึงจำเป็นที่จะต้องรู้จักผู้เรียนอย่างรอบด้าน และสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปเป็นพื้นฐานการออกแบบหรือวางแผนการเรียนรู้ได้สอดคล้องกับผู้เรียน สำหรับในการจัดกิจกรรมหรือออกแบบการเรียนรู้ อาจทำได้หลายวิธีการและเทคนิค แต่มีข้อควรคำนึงว่า ในการจัดการเรียนรู้แต่ละครั้ง แต่ละเรื่อง ได้เปิดโอกาสให้กับผู้เรียนในเรื่องต่อไปนี้หรือไม่

1. เปิดโอกาสให้นักเรียนเป็นผู้เลือกหรือตัดสินใจในเนื้อหาสาระที่สนใจ เป็นประโยชน์ต่อตัวผู้เรียนหรือไม่

2. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ โดยได้คิด ได้รวบรวมความรู้และลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองหรือไม่ ที่สำคัญครูควรเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมและสามารถนำไปใช้เป็นแนวปฏิบัติได้ ดังนี้

2.1 กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีที่ควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทางด้านร่างกาย (physical

participation) คือ เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อช่วยให้ประสาทการเรียนรู้ของผู้เรียนตื่นตัว พร้อมที่จะรับข้อมูลและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น กิจกรรมที่จัดให้ผู้เรียนจึงควรเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เคลื่อนไหวในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เป็นระยะๆ ตามความเหมาะสมกับวัยและระดับความสนใจของผู้เรียน

2.2 กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทางสติปัญญา (intellectual

participation) คือ เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเคลื่อนไหวทางสติปัญญา ต้องเป็นกิจกรรมที่ท้าทายความคิดของผู้เรียน สามารถกระตุ้นสมองของผู้เรียนให้เกิดการเคลื่อนไหว ต้องเป็นเรื่องที่ไม่ยากหรือง่ายเกินไปทำให้ผู้เรียนสนุกที่จะคิด

2.3 กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสังคม (social participation) คือ

เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคลหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว เนื่องจากมนุษย์จำเป็นต้องอยู่รวมกันเป็นหมู่คณะ มนุษย์ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้ากับผู้อื่นและสภาพแวดล้อมต่างๆ การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทางด้านสังคม

2.4 กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทางอารมณ์ (emotional participation) คือ เป็นกิจกรรมที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกของผู้เรียน ซึ่งจะช่วยให้การเรียนรู้นั้นเกิดความหมายต่อตนเอง โดยกิจกรรมดังกล่าวควรเกี่ยวข้องกับผู้เรียนโดยตรง

จากแนวคิดที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นที่มาของการนำเสนอชื่อ “CIPPA” ซึ่งระบุองค์ประกอบสำคัญในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ กล่าวคือ

C มาจากคำว่า Construct หมายถึง การสร้างความรู้ตามแนวคิดของทฤษฎีการสรรค์สร้างความรู้ (Constructivism) โดยครูสร้างกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสสร้างความรู้ด้วยตนเอง เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสติปัญญา

I มาจากคำว่า Interaction หมายถึง การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคลและแหล่งความรู้ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นการช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางสังคม

P มาจากคำว่า Physical Participation หมายถึง การให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เคลื่อนไหวร่างกายโดยการทำกิจกรรมในลักษณะต่างๆ เป็นการช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทางกาย

P มาจากคำว่า Process Learning หมายถึง การเรียนรู้กระบวนการต่างๆ กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้กระบวนการต่างๆ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น กระบวนการแสวงหาความรู้ กระบวนการคิด กระบวนการแก้ปัญหา กระบวนการกลุ่ม กระบวนการพัฒนาตนเอง เป็นต้น

 A มาจากคำว่า Application หมายถึง การนำความรู้ที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ ซึ่งจะช่วยให้

ผู้เรียนได้รับประโยชน์จากการเรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์


ดังนั้นการจัดการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการและการประเมินการเรียนรู้ของผู้เรียน ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญโดยการคาดหวังให้ผู้เรียน เรียนอย่างมีส่วนร่วมในการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง มีครูเป็นผู้แนะนำ ครู ยังมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพียงแต่บทบาทเปลี่ยนจากผู้สอนเป็นผู้แนะนำ เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ เทียบได้กับไกด์ที่จะนำนักท่องเที่ยวให้ได้ประสบการณ์ที่ดี จากการเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ ครูที่ดี จะช่วยผู้เรียนให้มีความสุขจากประสบการณ์การเรียนรู้ และเป็นผู้ที่มีนิสัยใฝ่เรียนต่อไปครูที่ประสบความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มักเป็นครูที่มีความตั้งใจและสนุกในการทำงานสอน เป็นคนช่างสังเกตและเอาใจใส่ผู้เรียน และมักจะได้ผลการตอบสนองที่ดีจากผู้เรียน แม้จะยังไม่มากในจุดเริ่มต้น แต่เมื่อปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ก็จะสังเกตได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้เรียนในทางที่ดีขึ้น

สืบค้นจาก  http://www.learners.in.th/blogs/posts/366920
สืบค้นโดย นายภควัต บ่างสมบูรณ์
แต่งบล๊อกโดย นายศรุต วัฒนกุลศิลปชัย